ประเทศไทย : ในการพิจารณาครั้งสำคัญ สหประชาชาติเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

25/07/2017
Communiqué
en th

(กรุงเทพฯ, นครเจนีวา, กรุงปารีส) รัฐบาลไทยจะต้องนำข้อเสนอแนะของหน่วยงานด้านสิทธิสตรีของสหประชาชาติไปปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ในการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (โครงการร่วมกันระหว่างสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) กล่าวในวันนี้

ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ของประเทศไทย ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายของประเทศไทยฉบับที่ 6 และ 7 ร่วมกัน ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมการฯทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายของประเทศสมาชิกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

“นี่เป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการ CEDAW ยอมรับว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกอยู่ภายใต้การโจมตีในประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะต้องหยุดปฏิเสธความจริงว่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้นได้ตกเป็นเหยื่อและจะต้องดำเนินการปกป้องพวกเธออย่างทันที”

กิซซู จาฮานคีรี รองประธาน FIDH

ในข้อสังเกตโดยสรุปนั้น คณะกรรมการฯได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต้องตกเป็นเป้าหมายถูกดำเนินคดีความ ถูกคุกคาม ถูกกระทำความรุนแรงและถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรภาคธุรกิจเนื่องมากจากการปฏิบัติงานของพวกเธอ คณะกรรมการฯเรียกร้องให้รัฐบาลไทยออกและปรับใช้มาตรการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีประสิทธิภาพอย่างไม่ล่าช้าเพื่อทำให้พวกเธอสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ ปราศจากความกลัวหรือความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีความ ถูกคุกคาม ถูกกระทำความรุนแรงถูกหรือข่มขู่ และคณะกรรมการฯยังได้ผลักดันให้ประเทศไทยทำการสอบสวน ดำเนินคดีและลงโทษอย่างเหมาะสมกับทุกคดีการคุกคาม การใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และจัดให้มีการรักษาเยียวยาผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ

“ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงเสี่ยงต่อการถูกโจมตี ถูกคุกคามและถูกข่มขู่ รัฐบาลไทยจะต้องทำให้มากกว่าพูดและแสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของสหประชาชาติและรับรองให้มีความคุ้มครองและความปลอดภัยของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

เจอรัลด์ สตาเบร็อค เลขาธิการ OMCT

ความกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯหลายประเด็นสะท้อนสิ่งที่ปรากฏอยู่ในรายงานร่วมกันของโครงการฯ องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันแนล (PI) และสมาคมผู้หญิง กฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (APWLD) เรื่อง “ตกอยู่ในอันตราย : ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” รายงานฉบับนี้ซึ่งถูกเผยแพร่ก่อนหน้าการพิจารณาการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทยได้บันทึกรูปแบบต่างๆของการกดขี่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบท ตั้งแต่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556

โครงการสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจัดตั้งขึ้นในปี 2540 โดยสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเข้ามาป้องกันหรือแก้ไข สถานการณ์การกดขี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยOMCT และ FIDH ต่างเป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปซึ่งถูกนำไปปรับใช้โดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

Lire la suite