ประเทศไทย : ควบคุมตัวโดยพลการต่อนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตย เบนจา อะปัญ

12/10/2021
Appel urgent
en th
Credit : TLHR

THA 003 / 1021 / OBS 103
การคุมตัวโดยพลการ /
การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทย
12 ตุลาคม 2564

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ขอเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากท่าน อันเนื่องด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยที่จะกล่าวถัดไปนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการคุมตัวโดยพลการและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนางสาวเบนจา อะปัญ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวเพื่อปรชาธิปไตยจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม [1] ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์อันเนื่องมาจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 10 สิงหาคม 2564

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 เบนจา อะปัญ ได้ถูกจับกุมที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเธอได้ไปที่นั่นเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 3 กันยายน 2564 ตำรวจได้จับกุมเบนจาด้วยหมายจับอื่นที่ค้างอยู่ ภายใต้ข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) [2] พ.ร.ก.ฉุกเฉิน [3] และพรบ.โรคติดต่อ โดยข้อหาเหล่านี้เป็นผลอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่หน้าอาคารสำนักงานชิโน-ไทย บนถนนอโศก กรุงเทพฯ ซึ่งในระหว่างนั้นเธอได้กล่าวปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การรับมือโรคระบาดโควิดของรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังจากวันที่ 7 ตุลาคม ตำรวจได้นำตัวเบนจาไปยังสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ซึ่งเธอได้ถูกขังค้างคืนที่นั่นหลังถูกปฏิเสธคำร้องขอประกันตัว

ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เบนจา อะปัน ได้ปรากฏตัวต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าคดีของเธอมีอัตราโทษสูงและได้เคยก่อเหตุในความผิดนี้มาก่อน เบนจาได้ถูกนำตัวไปทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพฯ และถูกกักขังอยู่ที่นั่น ขณะที่คำร้องเร่งด่วนฉบับนี้ได้เผยแพร่ ขณะนี้เบนจาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 ทั้งหมดหกคดี หากถูกไต่สวนและตัดสินว่ามีความผิดในคดีทั้งหมด เธออาจต้องโทษจำคุกรวมถึง 90 ปี

The Observatory มีข้อกังวลว่าในช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีบุคคลจำนวน 150 คน ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากมายที่ถูกตั้งข้อหา ภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยบางส่วนยังถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก, และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

The Observatory ประณามการควบคุมตัวโดยพลการและการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามต่อเบนจา อะปัญ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งมีลักษณะมุ่งลงโทษเนื่องจากการทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขาและใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

The Observatory ขอเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งห้าคนโดยไม่มีเงื่อนไขทันที และขอเรียกร้องให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามพวกเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นๆในประเทศ

โปรดดำเนินการ :

โปรดเขียนจดหมายถึงทางการไทยและเรียกร้องให้พวกเขาดำเนินการ ดังนี้ :

1. รับประกันความสมบูรณ์ของร่างกายและสภาพจิตใจของเบนจา อะปัญและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนในประเทศไทยในทุกกรณี และรับรองว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินกิจกรรมที่ชอบธรรมได้โดยไม่มีอุปสรรคหรือความกลัวว่าจะถูกรัฐปราบปรามในทุกกรณี
2. ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไร้เงื่อนไขทันที ซึ่งได้แก่ เบนจา อะปัญ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวโดยพลการและมีลักษณะมุ่งลงโทษเนื่องจากการทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขา
3. ยุติการคุกคามทั้งปวง ซึ่งรวมถึงในชั้นกระบวนการยุติธรรม ต่อเบนจา อะปัญ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศทุกคน
4. รับรองประกันสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบในทุกกรณี ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 19 และมาตรา 21 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ; ICCPR)
5. งดเว้นการใช้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และแก้ไขบทบัญญัติทั้งหมดของประมวลกฎหมายอาญา ที่ใช้ในการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

ที่อยู่ :

• พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย Email : spmwebsite@thaigov.go.th
• นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ Email : minister@mfa.go.th
• นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม Email : complainingcenter@moj.go.th
• พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก Email : webadmin@rta.mi.th
• พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ Email : info@royalthaipolice.go.th
• นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Email : help@nhrc.or.th info@nhrc.or.th
• นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา Email : mission.thailand@ties.itu.int
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม Email : thaibxl@pophost.eunet.be

และโปรดเขียนส่งไปยังผู้แทนทางการทูตประเทศไทยไทยประจำประเทศของท่าน

***
กรุงปารีสและนครเจนีวา 12 ตุลาคม 2564

กรุณาแจ้งให้เราทราบหากมีการดำเนินการใดๆ ตามคำร้องนี้ในจดหมายตอบกลับของท่าน

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for the Protection of Human Rights Defenders ; the Observatory) ถูกจัดตั้งเมื่อปี 2540 โดยสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture ; OMCT) โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT ต่างเป็นสมาชิก ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ช่องทางติดต่อ the Observatory :
E-mail : Appeals@fidh-omct.org
โทร FIDH : +33 (0) 1 43 55 25 18
โทร OMCT : +41 (0) 22 809 49 39

Lire la suite