ประเทศไทย : คุมขังนักเคลื่อนไหวแปดรายโดยพลการ

16/08/2021
Appel urgent
en th

THA 002 / 0821 / OBS 083
การควบคุมตัวโดยพลการ /
การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทย
12 สิงหาคม 2564

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ขอเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากท่าน อันเนื่องด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยที่จะกล่าวถัดไปนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ได้รับแจ้งเรื่องการควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยจำนวนแปดราย ได้แก่ ทนายความสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ณัฐชนน ไพโรจน์ สิริชัย นาถึง สมาชิกแนวร่วมราษฎรมูเตลู พรหมศร วีระธรรมจารี สมาชิกแนวร่วมตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ภาณุพงศ์ จาดนอก สมาชิกกลุ่มซัพพอร์ตเตอร์ไทยแลนด์ ธัชพงศ์ แกดำ และสมาชิกดาวดิน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา [1]

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวอานนท์ นำภา หลังจากเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเนื่องจากทราบว่าตนมีหมายจับ อานนท์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) และพรก.ฉุกเฉิน [2] เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมโดยสันติในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยในระหว่างการชุมนุมนั้น อานนท์ได้กล่าวปราศรัยที่ย้ำถึงข้อเรียกร้องจากฝ่ายประชาธิปไตยให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวอานนท์ โดยให้เหตุผลว่าเขามีความเสี่ยงสูงที่จะกระทำผิดซ้ำหากได้รับการปล่อยตัว หลังถูกคุมขังที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้สองคืน ในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวอานนท์และปฏิเสธคำร้องขอประกันตัว โดยศาลให้เหตุผลว่าอานนท์ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีร้ายแรง ฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันตัวครั้งก่อน และมีแนวโน้มว่าจะกระทำความผิดซ้ำหากได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่คำร้องเร่งด่วนฉบับนี้กำลังเผยแพร่ อานนท์ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษในกรุงทพฯ ซึ่งเขาเขาจะต้องตรวจโรคโควิด-19 และกักตัว 14 วัน The Observatory รำลึกได้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อานนท์ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 และหากถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งหมด อานนท์อาจถูกตัดสินโทษจำคุกรวมถึง 195 ปี ในช่วงต้นปที่ผ่านมา อานนท์ได้ถูกฝากขังเป็นเวลา 113 วันเนื่องจากคดีมาตรา 112 และในทำนองเดียวกัน พริษฐ์และภาณุพงศ์ก็ถูกฝากขังด้วยคดีมาตรา 112 เป็นเวลา 92 วันและ 85 วันตามลำดับ พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวพร้อมเงื่อนไขเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ส่วนอานนท์และภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัวพร้อมเงื่อนไขในวันที่ 1 มิถุนายน 2564

The Observatory มีข้อกังวลว่าในช่วงระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 มีบุคคลจำนวน 116 คน ซึ่งรวมถึงอานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกหลายคนถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์)

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2564 พริษฐ์ ชิวารักษ์ ณัฐชนน ไพโรจน์ สิริชัย นาถึง และพรหมศร วีระธรรมจารีถูกจับกุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในกรุงเทพฯ เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมโดยสันติในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่หน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) ในจังหวัดปทุมธานี ผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันที่หน้าสตช.ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวทั้ง 32 คนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวเนื่องจากเข้าร่วมการประท้วงก่อนหน้านี้ในวันเดียวกันที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดในกรุงเทพฯ ภายหลังในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 พริษฐ์ ณัฐชนน สิริชัย และพรหมศร ได้ถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานีตำรวจภูธรคลองห้า ก่อนจะถูกส่งตัวไปที่บก.ตชด.ภาค 1 ในจังหวัดปทุมธานี

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ภาณุพงศ์ จาดนอกและธัชพงศ์ แกดำได้ถูกจับกุมหลังจากเข้าไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจภูธรคลองห้า จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เช่นกัน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งหกคนถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) พรก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บโรคติดต่อ นักเคลื่อนไหวอีกสามคนที่เดินทางไปสถานีตำรวจภูธรคลองห้าพร้อมกับภาณุพงศ์และธัชพงศ์ก็ถูกจับกุมและควบคุมตัวไปด้วย

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลแขวงธัญบุรีได้อนุมัติคำสั่งฝากขังชั่วคราวแก่พริษฐ์ ชิวารักษ์ ณัฐชนน ไพโรจน์ สิริชัย นาถึง พรหมศร วีระธรรมจารี ภาณุพงศ์ จาดนอกและธัชพงศ์ แกดำพร้อมทั้งปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวเนื่องจากกระทำการโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมีแนวโน้มว่าจะกระทำผิดซ้ำหากได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่คำร้องเร่งด่วนฉบับนี้กำลังถูกเผยแพร่ นักกิจกรรมทั้งหกคนถูกส่งตัวไปยังเรือนจำชั่วคราวรังสิต จังหวัดปทุมธานี เพื่อควบคุมตัวเป็นเวลา 21 วัน โดยหลังจากนั้นพวกเขาจะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำธัญบุรี

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หลังจากเข้ามอบตัวที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องในกรุงเทพฯ จตุภัทร์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินและมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเนื่องจากเข้าร่วมการประท้วงที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์ผู้ซึ่งกำลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางในกรุงเทพฯในขณะที่คำร้องเร่งด่วนนี้กำลังถูกเผยแพร่นั้นไม่สามารถเข้าถึงทนายได้จนกระทั่งในช่วงบ่ายของวันที่ 10 สิงหาคม 2564

The Observatory ประณามการควบคุมตัวโดยพลการและการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งแปดรายที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งมีลักษณะมุ่งลงโทษเนื่องจากการทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขาและใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ

The Observatory ขอเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งแปดคนโดยไม่มีเงื่อนไขทันที และขอเรียกร้องให้ยุติการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือคุกคามพวกเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ในประเทศ

โปรดดำเนินการ :

โปรดเขียนจดหมายถึงทางการไทยและเรียกร้องให้พวกเขาดำเนินการ ดังนี้ :

1. รับประกันความสมบูรณ์ของร่างกายและสภาพจิตใจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในทุกสถานการณ์ และรับรองว่าพวกเขาจะสามาระดำเนินกิจกรรมที่ชอบธรรมได้โดยไม่มีอุปสรรคหรือความกลัวว่าจะถูกรัฐปราบปราม

2. ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมโดยไร้เงื่อนไขทันที ซึ่งได้แก่ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ณัฐชนน ไพโรจน์ สิริชัย นาถึง พรหมศร วีระธรรมจารี ภาณุพงศ์ จาดนอก ธัชพงศ์ แกดำ และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวโดยพลการและมีลักษณะมุ่งลงโทษเนื่องจากการทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนของพวกเขา

3. ยุติการคุกคามทั้งปวง ซึ่งรวมถึงในชั้นกระบวนการยุติธรรม แก่อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ณัฐชนน ไพโรจน์ สิริชัย นาถึง พรหมศร วีระธรรมจารี ภาณุพงศ์ จาดนอก ธัชพงศ์ แกดำ และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ตลอดจนนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศทุกคน

4. รับรองประกันสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบในทุกสถานการณ์ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 12 และมาตรา 21 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ; ICCPR)

ที่อยู่ :

• พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย Email : spmwebsite@thaigov.go.th
• นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ Email : minister@mfa.go.th
• นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม Email : complainingcenter@moj.go.th
• พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก Email : webadmin@rta.mi.th
• พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ Email : info@royalthaipolice.go.th
• นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Email : info@nhrc.or.th
• นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา Email : mission.thailand@ties.itu.int
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม Email : thaibxl@pophost.eunet.be

และโปรดเขียนส่งไปยังผู้แทนทางการทูตประเทศไทยไทยประจำประเทศของท่าน

***
กรุงปารีสและนครเจนีวา 12 สิงหาคม 2564

กรุณาแจ้งให้เราทราบหากมีการดำเนินการใดๆ ตามคำร้องนี้ในจดหมายตอบกลับของท่าน

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for the Protection of Human Rights Defenders ; the Observatory) ถูกจัดตั้งเมื่อปี 2540 โดยสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (World Organisation Against Torture ; OMCT) โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT ต่างเป็นสมาชิก ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ช่องทางติดต่อ the Observatory :
E-mail : Appeals@fidh-omct.org
โทร FIDH : +33 (0) 1 43 55 25 18
โทร OMCT : +41 (0) 22 809 49 39

Lire la suite