รัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สําคัญในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ

17/03/2022
Communiqué
en es th

(กรุงเทพฯ, ปารีส) รัฐบาลไทยล้มเหลวในการตอบสนองต่อข้อกังวลนานาชาติด้วยการไม่ยอมรับข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้รับในการะบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review ; UPR) รอบที่สาม สมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) โครงข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มูลนิธิมานุษยะ (Manushya Foundation) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวในวันนี้

“รัฐบาลไทยพลาดโอกาสอีกครั้งในการแสดงความมุ่งมั่นต่อการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สําคัญหลายประการ ประชาคมนานาชาติควรกดดันต่อไปเพื่อให้รัฐบาลดําเนินการตามข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

อดีล ราห์เมน คาน, เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH

กระบวนการ UPR รอบที่สามของไทยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-24 มีนาคม 2565 ในการประชุมครั้งที่ 49 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Huma Rights Council) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะทั้งหมด 278 ข้อ โดยรัฐบาลรับข้อเสนอแนะ 194 ข้อในตอนแรก พร้อมกล่าวว่าจะให้คำตอบเกี่ยวกับข้อเสนอที่เหลืออีก 84 ข้อในภายหลัง ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 รัฐบาลตัดสินใจรับข้อเสนอแนะเพียง 25 ข้อจาก 84 ข้อที่เหลือ พร้อมทั้งเปลี่ยนจุดยืนในข้อเสนอแนะที่เคยยอมรับไปในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ประเทศไทยรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 218 ข้อจากทั้งหมด 278 ข้อ

แม้จะมีสัดส่วนการยอมรับข้อเสนอแนะที่สูง (78%) แต่รัฐบาลยังคงปฏิเสธที่จะให้คํามั่นสัญญาในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่สําคัญหลายประการสิ่งที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งคือการตอบสนองของทางการไทยต่อข้อเสนอแนะด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม

ประเทศไทยปฏิเสธที่จะยอมรับทุกข้อเสนอแนะจำนวน 12 ข้อเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) โดยแทบทั้งหมดเรียกร้องให้มีการแก้ไข และมีหนึ่งข้อเรียกร้องให้ยุติการจับกุมและการดำเนินคดีกับเยาวชนด้วยมาตรา 112 มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอแนะเจ็ดใน 18 ข้อเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และข้อเสนอแนะแปดใน 16 ข้อเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมรัฐบาลพยายามที่จะสร้างความชอบธรรมต่อการปฏิเสธนี้โดยแถลงอย่างคลุมเครือว่าทางการไทยจะยังคง “สนับสนุนหลักการแห่งการรักษาสมดุลในการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และสาธารณสุข”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่ยอมรับข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขการหมิ่นประมาทในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแห่งประเทศไทยโดยอ้างเหตุผลว่าการแก้ไขดังกล่าวไม่รวมอยู่ใน “แผนงานด้านนิติบัญญัติในปัจจุบัน” มากไปกว่านั้น รัฐบาลยังปฏิเสธข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ยุติการควบคุมตัวโดยพลการ การจับกุม และการกระทำใดๆ ที่ล่วงละเมิดผู้กระทำการทางการเมือง (political actors) และภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในประเด็นเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) รัฐบาลไม่ยอมรับสี่ข้อเสนอแนะ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอแนะสามข้อที่เรียกร้องให้ทางการไทยยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน โดยรัฐบาลสร้างความชอบธรรมต่อจุดยืนของตนว่า เป้าหมายดังกล่าว “อาจทำสำเร็จไม่ได้” ในรอบ UPR ครั้งถัดไปซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2569

ในประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะเพียงหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ “พิจารณา” การให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่มีเป้าหมายในการยกเลิกโทษประหารชีวิต (Second Optional Protocol to the ICCPR ; OP2-ICCPR) และอีกหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ “รณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเรื่องโทษประหารชีวิต” ส่วนข้อเสนอแนะอีก 13 ข้อนั้นถูกปฏิเสธ ซึ่งบางส่วนคือการยกเลิกโทษประหารชีวิต การให้สัตยาบันต่อ OP2-ICCPR และการหยุดพักโทษประหารชีวิต ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะเพียงเจ็ดข้อจากทั้งหมด 22 ข้อเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต

ในส่วนของการบังคับสูญหาย รัฐบาลไม่ยอมรับข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้มีการสอบสวนการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งรวมถึงวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และยกเหตุผลอ้างอย่างน่าประหลาดใจว่าข้อเสนอแนะไม่มี “ข้อมูลที่เพียงพอในเชิงหลักการ” สำหรับการดำเนินการ

ในเรื่องของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะสามข้อที่เรียกร้องให้มีการปฏิบัติใช้มาตรการเพื่อรับรองการคุ้มครอง การยุติการส่งลี้ภัยเมียนมาร์กลับประเทศ และการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในศูนย์กักกัน รัฐบาลปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอแนะที่เรียร้องให้ขยายโครงการสวัสดิการสังคมเพื่ออนุญาตให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทำงานได้ ตลอดจนยอมรับข้อเสนอแนะสองข้อที่เรียกร้องให้ทางการไทยให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถานะผู้ลี้ภัย ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะหนึ่งข้อที่เรียกร้องให้ “พิจารณา” การให้สัตยาบัน

ในด้านบวก รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะทั้งแปดข้อที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ส่วนข้อเสนอแนะที่เรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายนั้นถูกปฏิเสธ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ยอมรับข้อเสนอแนะสองข้อที่เรียกร้องให้รับรองสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการคุ้มครองพวกเขา ในเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลได้ยอมรับข้อเสนอแนะอีกห้าข้อที่เรียกร้องให้มีมาตรการเพื่อรับรองพื้นที่ภาคประชาสังคม การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการสืบสวนการกระทำที่ล่วงละเมิดและการโจมตีพวกเขา

FIDH iLaw มูลนิธิมนุษยะ TLHR และสสส. ขอย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาพิจารณาข้อเสนอแนะที่ถูกปฏิเสธ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย และขอให้ไทยนำข้อเสนอแนะมาปฏิบัติใช้ใน UPR รอบถัดไป

ติดต่อ
อีวา คานัน (ปารีส) : +33648059157 / ecanan@fidh.org
Lire la suite