จดหมายแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย

01/09/2021
Lettre ouverte
en th

1 กันยายน 2564

นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนพิษณุโลก
ดุสิต กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย

หัวข้อ : ความกังวลเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย

เรียน นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรา, 13 องค์กรที่ลงชื่อด้านล่าง, ได้เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังเกินสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกเป็นกังวลกับการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วนของตำรวจควบคุมฝูงชนต่อการยั่วยุของผู้ประท้วง และเรายังกังวลกับการคุมขังผู้นำประท้วงตามอำเภอใจ โดยผู้นำการประท้วงเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งข้อหาอาญาเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และถูกคุมขัง ประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากความรุนแรง และทำให้แน่ใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัยในช่วงการระบาดของ COVID-19

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ประท้วงมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในการประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการประท้วงโดยใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสิบครั้ง โดยที่ผู้ประท้วงได้ขว้างก้อนหินและระเบิดขวด ยิงพลุ และใช้ไม้ง่ามหนังสติ๊กยิงหัวน็อตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกดินแดงใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การประท้วงเหล่านี้มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมหลัก โดยผู้ประท้วงจำนวนมากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี

มาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประท้วง อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมการประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ประท้วงแบบไม่เลือกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟุตเตจจากการประท้วงเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นไปยิงกระสุนยางบนทางด่วน ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเป้าหมายของการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรากฏในวิดีโออื่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่บุคคลที่ขับขี่รถจัรกยานยนต์ผ่านในระยะกระชั้นชิด อีกทั้งยังมีรายงานว่านักข่าวที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางในการรายงานข่าวประท้วง

มีรายงานว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงโดยตรง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกวัตถุที่เชื่อว่าเป็นกระป๋องแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ใบหน้าบริเวณแยกดินแดง และมีรายงานต่อมาว่านายธนัตถ์สูญเสียการมองเห็นที่ดวงตาข้างขวา

การใช้อาวุธปืนครั้งล่าสุดโดยมือปืนนิรนามในการประท้วงครั้งหนึ่งยิ่งทำให้เราเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ผู้ประท้วงวัยรุ่นสามคนถูกยิงด้วยกระสุนจริงหน้าสถานีตำรวจดินแดง เหยื่อรายหนึ่งเป็นเด็กชายอายุ 15 ปี ถูกกระสุนที่คอและยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก อาการล่าสุดจากรายงานของโรงพยาบาลคือเด็กชายมีอาการอัมพาตทั้งแขนและขา และไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คนอายุ 14 และ 16 ปี ตำรวจปฏิเสธการใช้กระสุนจริงระหว่างการประท้วง และกล่าวว่าตำรวจกำลังสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากการปราบปรามการประท้วงบนท้องถนนแล้ว ทางการไทยยังคงคุกคามผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงมากกว่า 700 คน รวมถึงเยาวชนอย่างน้อย 130 คน [1] ระหว่างวันที่ 7 ถึง 9 สิงหาคม 2564 ผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างน้อย 32 คนถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหา ผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงสิบคนถูกปฏิเสธการให้ประกันและถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี

อานนท์ นำภา และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สองในสิบผู้ที่ถูกจับกุมเป็นผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน อานนท์ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหาอื่นๆ จากการปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประท้วงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดและข้อหาอื่นๆ หลังจากที่เขาจัดการประท้วงหน้าสถานีตำรวจทุ่งสองห้องในวันเดียวกัน ผู้นำการประท้วงอีก 7 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ณัฐชนน ไพโรจน์, ศิริชัย นาถึง, พรหมศร วีระธรรมจารี, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ธัชพงษ์ แกดำ และปนัดดา ศิริมาศกุล ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดและข้อหาอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการเข้าร่วมการประท้วงหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 แซม สาแมท อายุ 19 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม และถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดรวมถึงข้อหาอื่นๆ จากการประท้วงหน้าประท้วงหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564

นักเคลื่อนไหวเหล่านี้หลายคนเคยถูกคุมขัง ดำเนินคดี และจำคุกจากการมีส่วนร่วมในการประท้วง ในปี 2559 จตุภัทร์ถูกจำคุกสองปีครึ่งหลังจากที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อต้นปีนี้ พริษฐ์ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 91 วันในข้อหาคล้ายคลึงกัน อานนท์ ภาณุพงศ์ และพรหมศร ก็ถูกคุมขังเมื่อต้นปีนี้เช่นกัน และต่างได้รับการปล่อยตัวจากการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีในเดือนมิถุนายน

ศาลมีความเห็นว่าการจัดการประท้วงของแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ อานนท์ พริษฐ์ และจตุภัทร์ นั้นละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งก่อน โดยเงื่อนไขนั้นห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการประท้วงทางการเมืองหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย พวกเขาอาจจะเผชิญกับการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายปี

มีรายงานว่าผู้ประท้วงอย่างน้อยแปดคนที่ถูกควบคุมตัวมีผลตรวจโควิดเป็นบวกขณะที่อยู่ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ได้ให้ประกันตัว ศิริชัย นาถึง, ปนัดดา ศิริมาศกุล และ แซม สาแมท ทั้งสามคนได้รับการปล่อยตัว แม้ว่าเรือนจำจะเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อโควิด แต่ผู้นำการประท้วงอีกเจ็ดคนยังคงถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยแต่ละคนถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างน้อยสองครั้ง

พันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 21 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อปี 2539 รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แม้ว่าข้อจำกัดสิทธิในการชุมนุมบางประการจะได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่การจำกัดสิทธิการชุมนุมใดๆ ต้อง ‘กำหนดโดยสอดคล้องกับกฎหมายและ ... มีความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย’ [2] ข้อ 21 ในกติการะหว่างประเทศฯ ระบุการให้เหตุผลที่อนุญาตสำหรับการจำกัดสิทธิในการชุมนุมดังนี้ : เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน การสาธารณสุข ศีลธรรมสาธารณะ หรือสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น [3] ไม่มีข้ออ้างอื่นใดของรัฐนอกเหนือจากนี้ที่จะเป็นความชอบธรรมในการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบได้

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อปี 2535 คุ้มครองสิทธิเด็กในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ [4]

ในข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ :

“โดยร่วมกับสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง [สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ] ถือเป็นรากฐานของการปกครองแบบมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ตามหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และพหุนิยม การชุมนุมโดยสงบสามารถมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้เข้าร่วมพัฒนาความคิดและเป้าหมายที่ใฝ่ฝันในพื้นที่สาธารณะ และกำหนดขอบเขตของการสนับสนุนหรือคัดค้านแนวคิดและเป้าหมายเหล่านั้น แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นพื้นที่ในการปลดปล่อยความโกรธแค้น แต่การชุมนุมโดยสงบอาจสร้างโอกาสสำหรับสำหรับการแก้ไขความแตกต่างอย่างครอบคลุม มีส่วนร่วม และโดยสันติ [5]

สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นรากฐานของสิทธิอื่นๆ มากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการช่วยประกันว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจะได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่การประท้วงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับบุคคลและกลุ่มคนชายขอบในการรณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง [6]

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กฎหมายระหว่างประเทศจึงปกป้องการประท้วงที่มีลักษณะทางการเมืองเป็นพิเศษ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ‘การชุมนุมที่ต้องการส่งสารทางการเมืองควรได้รับการยอมรับและการคุ้มครองมากกว่าปกติ’ [7] ดังนั้นการกำหนดเขตห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาดตามสถานที่ต่างๆ เช่น ศาล รัฐสภา สถานที่ที่มีความสำคัญทาง ประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ราชการอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะสถานที่ดังกล่าวถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ หากมีการห้ามการชุมนุมในหรือรอบพื้นที่ดังกล่าว ข้อจำกัดนี้จะต้องได้รับการอธิบายความชอบธรรมเป็นการเฉพาะและใช้ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่จำกัดเท่านั้น [8]

ภัยคุกคามต่อการสาธารณสุขที่เกิดจากการระบาดของโควิดอาจแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างแคบที่สุดในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวต้องชอบด้วยกฎหมาย มีความจำเป็น และได้สัดส่วนภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ [9] การประเมินว่ามาตรการเหล่านั้นมีความจำเป็น ได้สัดส่วน และมีเป้าหมายที่ชอบธรรมหรือไม่นั้น ควรพิจารณาว่ามาตรการที่เป็นปัญหานั้นเป็นวิธีที่ก้าวร้าวน้อยที่สุดในการบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกคู่มือเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของพลเมืองในบริบทของการระบาดของโรคโควิด โดยเสนอว่า :

“รัฐควรประกันว่าสิทธิในการจัดการชุมนุมและการประท้วงสามารถเกิดขึ้นได้ และรัฐได้จำกัดการใช้สิทธินั้นตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น รัฐควรพิจารณาว่าการประท้วงจะสอดคล้องกับความจำเป็นด้านสาธารณสุขได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงโดยการเว้นระยะห่างทางกายภาพ” [10]

ในเดือนเมษายน 2563 ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานของสหประชาชาติได้เตือนว่ารัฐต้องไม่ใช้กำลังแบบไม่ได้สัดส่วนในการบังคับใช้ข้อจำกัดที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดกับผู้ประท้วง โดยระบุว่า ’มาตรการฉุกเฉินอาจเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และศักดิ์ศรีของผู้ประท้วงได้มากกว่าไวรัส’ [11] นอกจากนี้ การกระทำของตำรวจที่ก้าวร้าวต่อผู้ประท้วงอาจขัดต่อจุดประสงค์ของมาตรการฉุกเฉิน การจับกุม การคุมขัง การใช้กำลัง และการสลายชุมนุมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสสำหรับผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้ [12]

รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องนักข่าว ผู้สังเกตการณ์ และประชาชน—ตลอดจนทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชน—จากภยันตราย [13] ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประท้วงสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างปลอดภัย ขณะที่มีการใช้ ’กำลังขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น’ เพื่อลดโอกาสที่ผู้ประท้วงจะได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน [14]

ในแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่ง ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออกได้ประกาศว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการประท้วงที่รุนแรงอยู่ในกฎหมาย” [15] มีเพียงผู้ประท้วงที่มีความรุนแรงที่ควรได้รับการจัดการเป็นรายบุคคล ตามที่ผู้รายงานพิเศษและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่สิทธิส่วนรวม และต้องได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น [16] การกระทำรุนแรงของผู้เข้าร่วมบางคนจะต้องไม่นำมานับรวมกับผู้เข้าร่วมคนอื่นในการชุมนุม และตราบใดที่ผู้จัดการชุมนุมใช้ความพยายามตามสมควรเพื่อส่งเสริมการชุมนุมโดยสงบ พวกเขาจะไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่รุนแรงของผู้เข้าร่วมคนอื่น” [17]

เจ้าหน้าที่รัฐอาจสลายการชุมนุมได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเคร่งครัด" เช่น เมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่ามีภัยคุกคามอย่างชัดแจ้งว่าจะเกิดความรุนแรงซึ่งไม่สามารถรับมือได้ด้วยการจับกุมเฉพาะเป้าหมายหรือการกระทำที่รุนแรงน้อยกว่า [18] ก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดเพื่อมีการจัดการชุมนุมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แม้ว่าผู้ประท้วงบางคนจะใช้ความรุนแรง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงมีสิทธิทั้งหมดของตนภายใต้กติการะหว่างประเทศฯ รวมถึงสิทธิในชีวิตและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการคุมขังตามอำเภอใจ [19]

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้กำลังในสถานการณ์ "ยกเว้น" เท่านั้น [20] การใช้กำลังใดๆ ต้องเป็นการใช้กำลังขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น ต้องกำหนดเป้าหมายไปที่บุคคลเฉพาะ และได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น [21] ข้อจำกัดในการใช้กำลังในที่ชุมนุมจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อตำรวจใช้อาวุธที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่นการใช้อาวุธปืน ในการควบคุมการชุมนุม อาวุธปืนอาจถูกใช้เมื่อมีความจำเป็นอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น [22]

กระสุนยางก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ตามคู่มือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธอันไม่ถึงแก่ชีวิตในการบังคับใช้กฎหมายระบุว่า ‘การยิงวิถีโค้งโดยทั่วไปควรใช้โดยมีจุดประสงค์เพื่อโจมตีส่วนล่างหรือขาของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่ชัดแจ้งว่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือประชาชน’ [23] กระสุนยางไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทั่วไปในการสลายการชุมนุมและไม่ควรยิงใส่ฝูงชนแบบไม่เลือกหน้า [24]

แก๊สน้ำตาและ ’อาวุธควบคุมพื้นที่’ อื่นๆ ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ประท้วง และควรใช้เพื่อตอบสนองต่อความรุนแรงในวงกว้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือการสลายการชุมนุม และควรเป็นวิธีสุดท้ายหลังจากให้เสียงเตือนและให้เวลาที่เหมาะสมแก่ผู้ประท้วงและผู้ผ่านทางได้ออกจากพื้นที่ [25] ตลับและกระป๋องบรรจุแก๊สน้ำตาต้องไม่มุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือใช้ในพื้นที่จำกัด [26] การใช้แก๊สน้ำตากับบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมแล้วถือเป็นการละเมิดข้อห้ามต่อการทรมานหรือการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว รัฐควร ’ส่งเสริมวัฒนธรรมของความรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในระหว่างการชุมนุมอย่างมีมาตรฐานสม่ำเสมอ’ [27] ดังนั้น ตำรวจจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเข้าใจกรอบกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุม เข้าใจหน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีการชุมนุมโดยสงบ และความสำคัญของการชุมนุมทางการเมืองในสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคที่เหมาะสมในการจัดการฝูงชนและวิธีหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงในขณะที่ตอบสนองต่อความรุนแรงของผู้ประท้วง [28] การใช้กำลังใดๆ ต้องมีการตรวจสอบเพื่อพิจารณาว่าการใช้กำลังนั้นจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่ [29] รัฐมี ’หน้าที่ในการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และในเวลาที่เหมาะสม ต่อข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลของใช้กำลังอย่างผิดกฎหมายหรือการละเมิดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ... ในบริบทของการชุมนุม’ [30]

ในเดือนมีนาคม 2563 ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกรัฐปล่อยตัว "บุคคลทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเพียงพอ รวมทั้งนักโทษการเมือง และผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการวิพากษ์วิจารณ์และมีมุมมองไม่ตรงกับรัฐ" เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด [31] การคุมขังแกนนำผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่องแม้จะมีอัตราการติดเชื้อในเรือนจำสูงเนื่องจากความแออัดเท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง

บทสรุป

เพื่อบรรลุพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยไม่ควรเพียงแค่ละเว้นการปราบปรามการประท้วง แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้รับรองว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายใช้กำลังกับผู้ประท้วงโดยปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กำลังเกินสัดส่วนและต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากไปกว่าอันตรายที่พวกเขาพยายามป้องกัน การใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนของวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การปฏิบัติการตามระดับของภัยคุกคาม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐไทยควรตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงโดยทันที บุคคลที่คุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้นำการประท้วงที่ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรมีบุคคลใดถูกกักขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเอง เช่น สิทธิในการชุมนุมโดยสงบหรือเสรีภาพในการแสดงออก

เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยริเริ่มการทบทวนกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

เราขอขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

ขอแสดงความนับถือ

Amnesty International
ARTICPE 19
ASEAN Parliamentarians for Human Rights
Asia Democracy Network
Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
Asian Network for Free Elections (ANFREL)
CIVICUS : World Alliance for Citizen Participation
Civil Rights Defenders
FIDH – International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
International Commission of Jurists
Manushya Foundation

สำเนา :

พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330

Lire la suite