ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่แย่ลงเป็นที่จับตามองของสหประชาชาติอีกครั้ง

13/03/2017
Communiqué
en fa th

(กรุงเทพฯ, นครเจนีวา, กรุงปารีส) ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่แย่ลงของประเทศไทยจะนำรัฐบาลทหารไปสู่ความน่าอับอายต่อนานาชาติต่อไปจากถูกพิจารณาโดยหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรสมาชิก ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวในวันนี้

ประเทศไทยกำลังจะถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (CCPR) ในวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะทำการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยในกระบวนการการพิจารณานั้น FIDH สสส.และ iLaw ได้ร่วมกันออกรายงานเรื่อง “ภายใต้การโจมตี - การละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารของประเทศไทย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปกครองของรัฐบาลทหารก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่การก่อรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

“ที่นครเจนีวา รัฐบาลไทยจะต้องเผชิญกับ ‘ภารกิจอันเป็นไปไม่ได้’ ในการแก้ต่างให้กับนโยบายและปฏิบัติการต่างๆที่ไร้เหตุผลของรัฐบาลทหาร และจนกว่ารัฐบาลทหารจะหยุดการดำเนินการโดยมิชอบ ประเทศไทยจะยังคงละเลยการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป”

นายดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธาน FIDH

รายงานร่วมกันของ FIDH/สสส./iLaw ได้ชี้ให้เห็นถึงความกังวลของทั้งสามองค์กรต่อความเสื่อมถอยอย่างมีนัยยะสำคัญของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองต่างๆซึ่งถูกรับรองอยู่ในบรรดาบทบัญญัติของ ICCPR อันเป็นผลมาจากปฏิบัติการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศอยู่ ความกังวลที่สำคัญ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน, สิทธิในการมีชีวิต, สิทธิในการมีเสรีภาพและความมั่นคง, สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมของบุคคลที่ถูกพรากไปซึ่งเสรีภาพ, เสรีภาพในการเคลื่อนไหว, สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม, สิทธิในการมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก, สิทธิในการมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ และสิทธิในการเข้าร่วมในกิจสาธารณะและการเลือกตั้ง

“ภายใต้การปกครองของคสช. การปราบปรามการแสดงความเห็นต่างอย่างสันติไม่ว่าจะโดยรูปแบบใดขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในรอบหลายศตวรรษ ในการมองข้ามหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิงนั้น รัฐบาลทหารก่อให้เกิดสภาวะตกต่ำซึ่งยากต่อการแก้ไข”

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยได้ถูกพิจารณาภายใต้กลไกของสหประชาชาติหลายกลไล ประเทศไทยถูกตรวจสอบโดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (CAT) และคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (CESCR) ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2557 และเดือนมิถุนายน ปี 2558 ตามลำดับ และในเดือนพฤษภาคม ปี 2559 ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) เป็นครั้งที่สอง

“เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ประเทศไทยล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่สำคัญส่วนใหญ่ที่ได้รับจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ น่าเสียใจที่ความล้มเหลวนี้ยิ่งเห็นชัดขึ้นจากนโยบายและปฏิบัติการต่างๆอันกดขี่ของคสช.ซึ่งทำให้พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้นไร้ซึ่งความหมาย”

นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสสส
Lire la suite