ประเทศไทย : การยุบพรรคฝ่ายค้านหลักที่จะใกล้เข้ามาการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ

17/04/2024
Communiqué
en th
Matt Hunt / ANADOLU / Anadolu via AFP

สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรสมาชิกศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยยกคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล เพื่อรับประกันการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

กรุงเทพ, ปารีส, 17 เมษายน 2567. วันที่ 3 เมษายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด (14.4 ล้าน) และที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด (151 ที่นั่ง) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

คดียุบพรรคก้าวไกล เกิดจากการที่พรรคเสนอร่างกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมีนาคม 2564 ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (หรือที่รู้จักกันว่าเป็นข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์) [1] รวมถึงการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งหากถูกยุบพรรค ผู้นำและผู้บริหารพรรคอาจถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี

“การเสนอกฎหมายเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นอำนาจหน้าที่โดยชอบของผู้บัญญัติกฎหมาย และไม่ควรนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง การยุบพรรคก้าวไกลที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเพิกถอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายล้านคนและละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ถึงเวลาแล้วที่สิ่งที่เรียกว่า "องค์กรอิสระ" ของประเทศไทยจะต้องหยุดแทรกแซงกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างไม่เหมาะสม และทำให้เจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นโมฆะอยู่ตลอดเวลา” เลขาธิการ FIDH Adilur Raman Khan กล่าว

การยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นขัดกับบทบัญญัติหลายข้อของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บทบัญญัติดังกล่าวรับประกันสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม (มาตรา 22) และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะและได้รับการเลือกตั้ง (มาตรา 25) ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องเคารพ ปกป้องและเติมเต็มสิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่

สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก “มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรับประกันการปฏิบัติงานของพรรคการเมืองในสังคมประชาธิปไตย” ตามคำกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (CCPR) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ICCPR. [2]

สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมหมายรวมถึงสิทธิในการจัดตั้งและเข้าร่วมสมาคมที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางการเมืองและสาธารณะ ตลอดจนสิทธิของสมาคมดังกล่าวในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ CCPR พิจารณาว่าพรรคการเมืองเป็น “รูปแบบหนึ่งของการสมาคมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อกลไกของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” รวมถึงพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่และดำเนินการ“ส่งเสริมแนวคิดอย่างสันติ แต่ซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบรับอย่างดีจากรัฐบาลหรือประชากรส่วนใหญ่” [3]

ภายใต้ ICCPR ข้อจำกัดต่อสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสมาคมสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามการทดสอบอย่างเคร่งครัดว่าถูกต้องตามหลักความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และความเป็นสัดส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง CCPR เน้นย้ำว่าข้อจำกัดใดๆ เกี่ยวกับพรรคการเมืองจะต้องจำเป็นเพื่อจัดการกับ “ภัยคุกคามที่แท้จริงและไม่เพียงแต่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติหรือระเบียบประชาธิปไตยที่สมมุติขึ้นมา” และเป็นไป “ตามสัดส่วนของผลประโยชน์ที่จะได้รับการคุ้มครอง” [4]

FIDH TLHR และ สสส. เชื่อว่าการยุบพรรคก้าวไกลเพียงเพราะข้อเสนอโดยชอบธรรมให้มีการแก้ไขกฎหมายด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งรับรองโดยรัฐธรรมนูญของประเทศไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ ถือเป็นการจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสมาคมโดยไม่จำเป็นและไม่สมส่วน และด้วยเหตุนี้ จึงไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ ICCPR

นอกจากนี้ CCPR ยังเน้นย้ำว่าพรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกในพรรค “มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจการสาธารณะ” [5] ตามที่บัญญัติไว้ใน CCPR การใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะโดยพลเมืองสามารถถูกระงับหรือยกเว้นได้เฉพาะในกรณีที่ "เป็นตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและสมเหตุสมผล" เท่านั้น [6] นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าการใช้สิทธิดังกล่าวอย่างเต็มที่ได้ จำเป็นต้องให้มีการใช้และการเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคมอย่างเต็มที่ด้วย อันรวมถึง “เสรีภาพในการอภิปรายกิจการสาธารณะ […] เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้าน […] และ เพื่อโฆษณาแนวความคิดทางการเมือง” [7]

การห้ามคณะกรรมการบริหารพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นการพรากสิทธิในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะอย่างไม่มีเหตุผล

FIDH TLHR และ สสส. ชี้แจงว่า เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว ที่ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเห็นว่ามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก

FIDH TLHR และ สสส. ระลึกว่าในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยกล่าวว่าการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยควรจัดขึ้นใน “สถานที่ที่เหมาะสม” ซึ่งรวมทั้งในรัฐสภา [8]

FIDH TLHR และ สสส. ยังระลึกถึงคำกล่าวของนายเศรษฐาเองเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ว่ามาตรา 112 “เป็นปัญหาในการบังคับใช้” และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ “เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” [9] ในอีกวาระหนึ่ง คือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ระบุว่ามาตรา 112 ควรได้รับการแก้ไข [10]

ประวัติของการยุบพรรคโดยฝ่ายเดียว

คำร้องของ กกต. มีที่มาจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ว่านโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นความพยายาม “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่พรรคก้าวไกลปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล งดเว้นการดำเนินการใดๆ และการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในการสนับสนุนการยกเลิกมาตรา 112 คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นเหตุให้ กกต. ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญได้

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้ยุบพรรคการเมืองที่ต่อต้านระบบที่สำคัญๆหลายพรรคด้วยเหตุผลที่น่าสงสัย และห้ามกรรมการบริหารพรรคการเมืองหลายคนดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลามากถึง 10 ปี

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมือง 111 คน ออกจากการเมืองเป็นเวลาห้าปี จากการถูกกล่าวหาว่าทุจริตการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน 2549

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นรัฐบาลในขณะนั้น ฐานฉ้อโกงการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม 2550 นอกจากนี้ ศาลยังสั่งตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 37 คน ออกจากการเมืองเป็นเวลาห้าปี รวมถึง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และสั่งตัดสิทธกรรมการบริหารพรรค 14 คนออกจากการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ฐานเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระขนิษฐาในกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562 ศาลพิจารณาว่าการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นพรรคก่อนหน้าของพรรคก้าวไกล เนื่องจากละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง ศาลตัดสินว่าการกู้ยืมเงินจำนวน 191 ล้านบาท (ประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ที่พรรคอนาคตใหม่กู้จากหัวหน้าพรรคนั้น ถือเป็นการละเมิดมาตรา 66 และ 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งจำกัดการบริจาคตามกฎหมายจากบุคคลทั่งไปไว้ที่ 10 ล้านบาท ( ประมาณ 316,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ถึงแม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติเฉพาะห้ามมิให้ผู้ใดออกเงินกู้ให้กับพรรคการเมืองก็ตาม ศาลสั่งตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 16 คน เป็นเวลา 10 ปี

Lire la suite