คำอธิบายสถานการณ์ :
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการกักขังโดยพลการ การคุกคามระหว่างการพิจารณาคดี และการโจมตีทางกายภาพต่อนักเคลื่อนไหวเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย นางสาว ทานตะวัน ’ตะวัน’ ตัวตุลานนท์ และนาย ณัฐนนท์ ’แฟรงค์’ ไชยมหาบุตร ตลอดจนการคุกคามต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) หนึ่งในองค์กรสมาชิกของ FIDH ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นนักศึกษานักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย มังกรปฏิวัติ และ ทะลุวัง [1] ซึ่งเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไทย (“หมิ่นประมาทกษัตริย์”) และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไทย ในฐานะอดีตสมาชิก We Volunteer [2] ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ได้ช่วยดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยหลายครั้ง
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หน้าศาลอาญากรุงเทพ และนำตัวไปที่ สถานีตำรวจภูธรดินแดง ในกรุงเทพมหานคร เพื่อสอบปากคำเกี่ยวกับการประท้วงระหว่างปิดการจราจรบนถนนเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่าน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) มาตรา 368 (ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน) และมาตรา 397 (ก่อความรำคาญในที่สาธารณะ) ของประมวลกฎหมายอาญาไทย และมาตรา 14(3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกตั้งข้อหาเช่นเดียวกับทานตะวัน ตัวตุลานนท์ โดยมีข้อหาเพิ่มเติมตามมาตรา 136 (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (ใช้สัญญาณเสียงของยานพาหนะโดยไม่จำเป็น) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลอาญากรุงเทพได้อนุมัติคำร้องขอฝากขังของตำรวจเป็นเวลา 12 วันในขั้นตอนการสอบสวน จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นตัวแทนของนักเคลื่อนไหวทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวซึ่งศาลปฏิเสธ หากถูกตัดสินว่ามีความผิด ทานตะวัน ตัวตุลานนท์อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี หนึ่งเดือน และอีก 10 วัน ส่วนณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดแปดปี หนึ่งเดือน และอีก 10 วัน ในขณะที่เผยแพร่คำอุทธรณ์ด่วนนี้ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 14.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับโทรศัพท์จากชายนิรนามคนหนึ่งซึ่งขอติดต่อทนายความของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร เมื่อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ให้ข้อมูล ชายคนดังกล่าวพูดว่าเขาและกลุ่มของเขาจะบุกโจมตีสำนักงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยใช้อาวุธ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 13.00 น. ชายไม่ทราบชื่อคนหนึ่งขับรถไปที่ประตูสำนักงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในกรุงเทพฯ โดยยืนกรานว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในบริเวณสำนักงาน และขอ “เอกสาร” และชื่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับภัยคุกคามที่กล่าวมาข้างต้น
ข้อกล่าวหาที่มีต่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร เกิดขึ้นจากการประท้วงเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เมื่อรถของพวกเขาถูกหยุดเพื่อขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระกนิษฐาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์บนทางด่วนในกรุงเทพฯ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของเธอ ซึ่งแสดงให้เห็นการบีบแตรและปะทะวาจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังกีดขวางการจราจรเพื่อปิดถนนให้ขบวนเสด็จ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ตำรวจได้ยื่นฟ้องนักเคลื่อนไหวทั้งสองในข้อหา “ก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ” ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 397 ของประมวลกฎหมายอาญา
ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็ก ๆ จากกลุ่มทะลุวัง รวมตัวกันที่สถานีรถไฟฟ้า (BTS) ในเขตปทุมวัน ใจกลางกรุงเทพฯ เพื่ออ่านคำแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณะชนเกี่ยวกับขบวนรถพระราชพิธี นักเคลื่อนไหวโดยสันติเหล่านั้นถูกทำร้ายร่างกายโดยสมาชิกของกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หัวรุนแรง โดยในเหตุการณ์นี้มีนักเคลื่อนไหว 10 คน นักข่าวพลเมือง 2 คน และบุคคลอื่นที่สังเกตการณ์การชุมนุมได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีครั้งนี้ ต่อมานักเคลื่อนไหวได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันเพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ในโพสต์เฟซบุ๊ก ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้ขอโทษที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และปฏิเสธว่าเธอพยายามยุ่งเกี่ยวกับขบวนเสด็จ
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ตระหนักว่า ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นั้นได้ถูกตั้งข้อหาในความผิดทางอาญาหลายประการ รวมถึงฐานละเมิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไทย สืบเนื่องกับ 2 คดี ได้แก่ การทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ซึ่งเธอได้ทำกิจกรรมที่สยามพารากอน ในใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ตามเส้นทางพระราชพิธีในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 เธอเคยถูกควบคุมตัว หลายครั้งในความเกี่ยวข้องกับคดีเหล่านี้ก่อนได้รับการประกันตัว โดยการดำเนินคดีในทั้งสองกรณียังคงดำเนินอยู่
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ตะหนักด้วยว่า ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร เคยมีประสบการณ์ถูกทางการจับกุมอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ขณะเข้าร่วมการประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพฯ
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ตั้งข้อสังเกตด้วยความกังวลว่า ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 19 กุมภาพันธ์ 2567 ประชาชนจำนวน 264 คน รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก และผู้เยาว์ 20 คน ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งในขณะนี้มี 13 คนถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดี และอีก 7 คนต้องรับโทษจำคุก บุคคลสองคนยังถูกควบคุมตัวที่ศูนย์กักกันเยาวชนตามมาตรา 112 ในข้อหากระทำความผิดเมื่อตอนที่ยังเป็นเยาวชน
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ประณามการกักขังโดยพลการและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อลงโทษพวกเขาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกโดยชอบเท่านั้น
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวพวกเขาและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในประเทศโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อพวกเขา
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ ยังประณามภัยคุกคามและการข่มขู่ศูนย์ทายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งดูเหมือนจะมุ่งเป้าไปที่การขัดขวางองค์กรและสมาชิกจากการทำงานที่ถูกต้องในฐานะทนายความเท่านั้น
กลุ่มสังเกตการณ์ฯ เรียกร้องให้ทางการไทยใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อรับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในทุกสถานการณ์ และดำเนินการสอบสวนอย่างอิสระต่อภัยคุกคามที่กล่าวมาข้างต้น
การดำเนินการที่เราร้องขอ :
โปรดเขียนจดหมายถึงทางการไทยและขอให้พวกเขา :
– รับประกันความสมบูรณ์ทางร่างกายและสุขภาพจิตในทุกสถานการณ์ของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร เจ้าหน้าที่และทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยทุกราย
– ปล่อยตัวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ตลอดจนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนอื่น ๆ โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการคุมขังของพวกเขานั้นเป็นไปโดยพลการ ซึ่งดูเหมือนว่าจะมุ่งเป้าไปที่การลงโทษพวกเขาสำหรับการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมายและสันติ
– ยุติการกระทำที่เป็นการคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงในระดับตุลาการต่อ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนอื่น ๆ ทั้งหมดในประเทศ และรับประกันในทุกสถานการณ์ว่าพวกเขาสามารถดำเนินการทำกิจกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยปราศจากอุปสรรคและความกลัวต่อการโต้กลับ
ดำเนินการสอบสวนทันที โดยไม่มีความลำเอียงต่อภัยคุกคามต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่และทนายความของศูนย์ฯ และนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล
– รับประกันในทุกสถานการณ์ถึงสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี
– งดเว้นการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่มุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ที่อยู่ :
• นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี Email : spmwebsite@thaigov.go.th
• นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี Email : minister@mfa.go.th
• พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม Email : complainingcenter@moj.go.th
• พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด Email : webadmin@rta.mi.th
• พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ Email : info@royalthaipolice.go.th
• นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Email : help@nhrc.or.th, info@nhrc.co.th
• คุณสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Email : thaimission.GVA@mfa.mail.go.th
• นายเสข วรรณมธี เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม Email : thaiembassy.brs@mfa.go.th
กรุณาเขียนถึงผู้แทนทางการทูตของประเทศไทยในประเทศของคุณด้วย
***
ปารีส-เจนีวา, 20 กุมภาพันธ์ 20 2567
โปรดแจ้งให้เราทราบถึงการดำเนินการใดๆโดยอ้างถึงรหัสของคำเรียกร้องนี้ในการตอบกลับของคุณ
กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดย FIDH และกลุ่มองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การกดขี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT ต่างเป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ
หากต้องการติดต่อกลุ่มสังเกตุการณ์ฯ โปรดติดต่อที่ช่องทางฉุกเฉิน :
E-mail : alert@observatoryfordefenders.org
โทร FIDH : +33 (0) 1 43 55 25 18
โทร OMCT : +41 (0) 22 809 49 39.