ประเทศไทย : กลไกสหประชาชาติได้รับคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ในคดีวางระเบิด

07/12/2023
Communiqué
en th
NICOLAS ASFOURI / AFP

วันนี้ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights - FIDH) ร่วมกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists - ICJ) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ( UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) เพื่อเน้นย้ำถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและยืดเยื้อต่อชายชาวอุยกูร์ 2 คนจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งถูกควบคุมตัวใน ประเทศไทยหลังจากถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดศาลท้าวมหาพรหมในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2558

กรุงเทพฯ, ปารีส, 7 ธันวาคม 2566 มีบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระบวนการทางกฎหมายจำนวนมากทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีของบิลาล โมฮัมเหม็ด ( Bilal Mohammed) และยูซุฟู เมียไรลี(Yusufu Mierail) ซึ่งรวมถึง : สิทธิในเสรีภาพ ; สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและการคุ้มครองจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายขณะถูกคุมขัง ; สิทธิในการโต้แย้งถึงความถูกต้องตามกฎหมายของการคุมขัง ; สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลที่เป็นอิสระ เป็นกลาง และมีอำนาจ ; และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร สิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

“การดำเนินคดีและการคุมขังบิลาล โมฮัมเหม็ดและยูซุฟู เมียไรลี แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่น่ากังวลบางประการของระบบยุติธรรมทางอาญาและระบบเรือนจำของประเทศไทย ซึ่งมักเต็มไปด้วยการละเมิดและการเลือกปฏิบัติ หลังจากผ่านไปเกือบแปดปี การพิจารณาคดีของชายชาวอุยกูร์ทั้งสองคนดูไม่มีวี่แววสิ้นสุดในระยะเวลาอันใกล้ ศาลและหน่วยงานของไทยจำเป็นที่จะต้องประกันการเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างเร่งด่วน”

อดิลูร์ เราะห์มาน ข่าน (Adilur Rahman Khan) เลขาธิการ FIDH

บิลาล โมฮัมเหม็ด และยูซุฟู เมียไรลี ถูกคุมขังไว้ภายในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) ในกรุงเทพฯ นานกว่าแปดปี พวกเขาถูกตำรวจและทหารไทยจับกุมโดยไม่มีหมายจับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2558 และ 1 กันยายน 2558 ตามลำดับ

ในเดือนกันยายน 2558 ทั้งสองถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี ภายในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ทั้งสองถูกย้ายไปที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งสองห้องภายในกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 แห่งใหม่ในกรุงเทพ ฯ

การพิจารณาคดีของบิลาล โมฮัมเหม็ด และยูซุฟู เมียไรลี เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยระหว่างปี 2559 – 2562 คดีดังกล่าวถูกพิจารณาคดีโดยศาลทหารกรุงเทพ ก่อนที่ในเดือนกรกฎาคม 2562 คดีดังกล่าวได้ถูกย้ายโอนไปที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล้าข้าและอาจจะใช้เวลาอีกหลายปี เนื่องจากได้มีการสืบพยานไปแล้วเพียง 45 คน จากทั้งหมด 447 คน โดยมีกำหนดสืบพยานครั้งถัดไปในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้

FIDH โต้แย้งว่าการพรากอิสรภาพของบิลาล โมฮัมเหม็ด และยูซุฟู เมียไรลีนั้นเป็นไปโดยพลการ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ : การไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับในการจับกุมและการคุมขังในช่วงต้น ; การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและมีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนรูปแบบการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ต่อชาวอุยกูร์ในประเทศไทย

FIDH เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตราการที่จำเป็นโดยด่วนเพื่อประกันให้บิลาล โมฮัมเหม็ด และยูซุฟู เมียไรลี ได้รับกระบวนการอันชอบธรรมของกฎหมาย (due process) และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ อันเป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย รวมถึงกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ อีกทั้ง FIDH เรียกร้องให้รัฐบาลประกันว่าทั้งสองได้รับการปฏิบัติและอยู่ในการคุมขังที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา)

Lire la suite