กรุงเทพฯ, ปารีส, 31 ตุลาคม 2566 อ้างอิงจากข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายฯ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ถึง 30 ตุลาคม 2566 ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวข้องกับจำเลย 100 รายที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ในจำนวนนี้ จำเลยใน 79 คดีถูกตัดสินว่ามีความผิด และ 21 คดี ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง อัตราการพิพากษาลงโทษอยู่ที่ 79% โดยโทษจำคุกที่นานที่สุดในช่วงเวลานี้คือ 28 ปี
“จำนวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกลับเข้าสู่ระดับที่น่าตกใจอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีของไทยเคยกล่าวว่าเห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นเขาควรทำทุกอย่างที่อยู่ในอำนาจเพื่อให้แน่ใจว่าการบังคับใช้จะไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน”
ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 27 ตุลาคม 2566 มีบุคคลอย่างน้อย 259 ราย โดย 20 รายในจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงบางคนเผชิญการดำเนินคดีภายใต้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคดี ซึ่งอาจส่งผลให้มีโทษจำคุกสูงถึง 300 ปี
ขณะนี้มีบุคคลอย่างน้อย 16 รายที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำลังถูกควบคุมตัว โดยหนึ่งรายอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ; 2 รายเป็นเยาวชนถูกคุมขังในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 10 รายที่กำลังอุทธรณ์คดี และ 3 รายกำลังรับโทษจำคุก โดยส่วนมากผู้ที่ถูกตัดสินความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเนื่องจากพวกเขาได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์หรือศาลมีคำสั่งให้รอการลงโทษ
FIDH ศูนย์ทนายความฯ สสส. และ iLaw เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เรานึกถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ว่ามาตรา 112 “เป็นปัญหาในการบังคับใช้” และ “จำเป็นต้องทบทวน […] เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” [1] อีกวาระหนึ่ง คือ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 นายเศรษฐา ระบุว่า ควรแก้ไขมาตรา 112 [2]
FIDH ศูนย์ทนายความฯ สสส. และ iLaw ยังย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกนโยบายและการดำเนินการปราบปรามของรัฐบาลชุดก่อน ๆ รวมถึงการงดเว้นการจับกุม การดำเนินคดี และการคุมขังบุคคลเพื่อการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสันติและถูกต้องตามกฎหมาย
ความเป็นมา
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรา 112 จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปีในแต่ละกระทง
การดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระลอกปัจจุบันเริ่มขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกแถลงการณ์ยืนยันที่จะบังคับใช้ “กฏหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ต่อแกนนำและผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมในการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเมื่อปี 2563 ในระหว่างการชุมนุมมากมายนี้ ผู้ประท้วงได้ทำลายข้อห้ามทางการเมืองที่มีมายาวนานของประเทศไทย ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยตรงและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ
เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วที่กลไกติดตามสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN) ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของประเทศไทยและการบังคับใช้มาตรา 112 และยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ซ้ำแล้วซ้ำอีก
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการกักขังโดยพลการ (WGAD) พบว่าการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลเก้ารายที่ถูกควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 ถือเป็นการ “กระทำโดยพลการ” เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายบทของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ผู้ต้องขัง 8 รายได้รับการปล่อยตัวหลังรับโทษจำคุก ขณะที่รายที่ 9 อัญชัน ปรีเลิศ ยังคงถูกคุมขัง หลังจากถูกตัดสินจำคุก 87 ปีในเดือนมกราคม 2564