ประเทศไทย : สุขภาพที่ทรุดโทรมและการกักขังโดยพลการของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยสองคน

07/07/2022
Appel urgent
en th

THA 002 / 0722 / OBS 058
การควบคุมตัวโดยพลการ /
สุขภาพทรุดโทรม /
การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม /
การข่มขู่
ประเทศไทย
7 กรกฎาคม 2565

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ขอเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากท่าน อันเนื่องด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยที่จะกล่าวถัดไปนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ได้รับแจ้งเกี่ยวกับสุขภาพที่ทรุดโทรมของ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ “ใบปอ” และ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” สมาชิกกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทะลุวัง ทะลุวังเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่จัดตั้งขึ้นในต้นปี 2565 ทะลุวังได้รณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย (“หมิ่นประมาทกษัตริย์”) โดยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 กลุ่มทะลุวังได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างไรและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปหรือไม่ ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวโดยพลการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพฯ ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวถึง 6 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 และ 27 พฤษภาคม วันที่ 2, 16 และ 23 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม 2565 และอีกครั้งโดยศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ณัฐนิช ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเขตจตุจักร กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หลังจากมีอาการท้องร่วงรุนแรง ณัฐนิช รายงานว่าถูกแพทย์อาสาคนหนึ่งข่มขู่และคุกคามด้วยวาจา ตามคำบอกเล่าของณัฐนิช เขาพูดว่า "ถ้าฉันมีปืน" - และได้ทำมือเลียนแบบปืนและชี้ไปที่คางของเขา หลังเกิดเหตุ ณัฐนิชได้ยื่นคำร้องต่อกรมราชทัณฑ์และแจ้งทนายของเธอเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 หลังจากที่เธอยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว แพทย์อาสาได้ปฏิเสธคำขอเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไปของเธอ

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ซึ่งเป็นตัวแทนของณัฐนิชและเนติพร ได้รับแจ้งจากทนายความว่าเนติพรถูกย้ายไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในช่วงเช้าของวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ในสภาพที่สุขภาพย่ำแย่ เนติพรบ่นปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2565 เนติพรสามารถดื่มน้ำได้เท่านั้น

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 เนติพรเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อีกครั้งหลังจากบ่นว่าปวดท้องรุนแรง เธอได้รับน้ำเกลือและวิตามินเพราะเธอไม่สามารถทนต่ออาการปวดท้องได้อีกต่อไป การตรวจเลือดของเธอพบว่ามีโพแทสเซียมในระดับต่ำและได้รับการให้ยาทางหลอดเลือดดำ เนติพรถูกนำตัวกลับไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางในวันที่ 1 กรกฎาคม

ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ณัฐนิชและเนติพรได้ประท้วงการกักขังด้วยการอดอาหาร พวกเขามีอาการเหนื่อยล้า เวียนศีรษะ ปวดท้อง และน้ำหนักลดจากการอดอาหาร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ทนายความของเนติพรได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อขออนุญาตให้แพทย์ภายนอกที่ครอบครัวเนติพรไว้ใจมาทำการตรวจร่างกาย ในขณะที่คำร้องขอเร่งด่วนฉบับนี้ได้ถูกตีพิมพ์ ยังไม่มีการตอบกลับจากกรมราชทัณฑ์

ณัฐนิชและเนติพรกำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดมาตรา 112 (“หมิ่นประมาทกษัตริย์”), 116 (“ยุยงปลุกปั่น”), 140 (“ต่อต้านหรือขัดขวางเจ้าหน้าที่โดยใช้ความรุนแรงตั้งแต่สามคนขึ้นไป”) และ 368 (“ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งจากเจ้าหน้าที่”) แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ข้อกล่าวหาของณัฐนิชและเนติพรเกิดจากการจัดกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2565 ตำรวจจากสถานีตำรวจปทุมวันของกรุงเทพฯ ได้เรียกณัฐนิชและเนติพรมาฟังข้อกล่าวหาข้างต้นตามประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พวกเขาได้รับการประกันตัวในวันเดียวกันที่วงเงิน 200,000 บาท (ประมาณ 5,416 ยูโร) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งสองได้จัดกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินอีกครั้งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ การประกันตัวของพวกเขาจึงถูกศาลอาญากรุงเทพใต้เพิกถอนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ตามคำร้องขอของตำรวจสอบสวนซึ่งโต้แย้งว่า เหตุการณ์วันที่ 13 มีนาคม เป็นการละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวของพวกเขาที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 เงื่อนไขการประกันตัวของณัฐนิชและเนติพรทำให้พวกเขาไม่สามารถ : มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสถาบันกษัตริย์ ; และเชิญชวน ปลุกระดม หรือโน้มน้าวใจผู้คนผ่านโซเชียลมีเดียให้เข้าร่วมในการประท้วงหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในที่สาธารณะ

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ตระหนักว่าสมาชิกคนที่สามของกลุ่มทะลุวัง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2565 จากเหตุการณ์การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ทานตะวันได้รับการประกันตัวหลังจากอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 36 วันและถูกกักบริเวณภายในที่พัก ซึ่งรวมถึงคำสั่งห้ามเดินทางและติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ที่ข้อเท้าของเธอ

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับภาวะสุขภาพของณัฐนิชและเนติพร ซึ่งแย่ลงอย่างมากอันเป็นผลมาจากการอดอาหาร และอาจแย่ลงได้อีกเนื่องจากขาดการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม The Observatory เรียกร้องให้ทางการไทยให้การรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมโดยทันที และปล่อยตัวทั้งสองด้วยเหตุผลทางการแพทย์ กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ยังเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรายอื่นๆ ในประเทศไทย และยุติการคุกคามทางตุลาการต่อพวกเขา รวมถึงณัฐนิชและเนติพร

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ตระหนักว่าระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565 กว่า 203 คน อันประกอบด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนและผู้เยาว์อย่างน้อย 16 คนถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

โปรดดำเนินการ :

โปรดเขียนถึงเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและเรียกร้องเพื่อขอให้ดำเนินการ ดังนี้ :
1. รับประกันความสมบูรณ์ทางร่างกายและทางจิตใจของณัฐนิชและเนติพร รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรายอื่นๆ ในประเทศไทยในทุกกรณี ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมในระหว่างการกักขัง และประกันในทุกกรณีว่าพวกเขา สามารถดำเนินกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่มีอุปสรรคและความกลัวการถูกตอบโต้

2. ปล่อยตัวณัฐนิชและเนติพรทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นการกักขังโดยพลการ และมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อลงโทษพวกเขาสำหรับการทำกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

3. ยุติการล่วงละเมิดทั้งหมด รวมถึงในระดับตุลาการ ต่อ ณัฐนิช เนติพร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศ

4. แก้ไขหรืองดเว้นจากการใช้มาตรา 112 และ 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาในการมุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ที่อยู่ :

นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี Email : spmwebsite@thaigov.go.th
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีเมล : Minister@mfa.go.th
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อีเมล : compilingcenter@moj.go.th
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. Email : webadmin@rta.mi.th
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. Email : info@royalthaipolice.go.th
นายประไกรรัตน์ ตันธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ Email : Prakairatana@nhrc.or.th / Prakairatanao@yahoo.com
ฯพณฯ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ อีเมล : mission.thailand@ties.itu.int
สถานทูตไทยในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม อีเมล : thaibxl@pophost.eunet.be

โปรดเขียนจดหมายถึงผู้แทนทางการทูตของประเทศไทยในประเทศของท่าน

***
ปารีส-เจนีวา 7 กรกฎาคม 2022

กรุณาแจ้งให้เราทราบถึงการดำเนินการใดๆ ตามคำร้องนี้ในจดหมายตอบกลับของท่าน

The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (the Observatory) ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดย FIDH และองค์การต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT เป็นสมาชิก ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกป้องกันสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ติดต่อกลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) โทรสายด่วน :
• อีเมล : appeals@fidh-omct.org
• หมายเลขโทรศัพท์ FIDH : +33 (0) 1 43 55 25 18
• โทรศัพท์ OMCT : +41 (0) 22 809 49 39

Lire la suite