ประเทศไทย : ตัวเลขของผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มากถึง 200 คนแล้ว

17/06/2022
Communiqué
en es fr th
Thiti Wannamontha / Bangkok Post via AFP

(กรุงเทพฯ, ปารีส) : จำนวนผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรา 112 ซึ่งบัญญัติให้มีการดำเนินคดีแก่ผู้ที่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ขณะนี้ได้มียอดถึง 200 คนแล้ว ในเวลาไม่ถึง 18 เดือน FIDH และศูนย์ทนายฯ กล่าววันนี้ ซึ่งการจับกุม กักขัง และดำเนินคดี ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ โดยมุ่งเป้าไปที่นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุมมากมาย ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขา รวมไปถึงบนพื้นที่ออนไลน์

“ด้วยอัตราการดำเนินคดีในปัจจุบัน และด้วยอัตราการตัดสินลงโทษในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯที่สูงเป็นปกตินั้น ในไม่ช้าประเทศไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักโทษการเมืองจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค รัฐบาลไทยต้องยุติการแพร่ระบาดของการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯโดยทันที และปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”

n เลขาธิการ FIDH , Adilur Raman Khan

จากข้อมูลที่ศูนย์ทนายฯ ที่ได้รวบรวม ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ระบุว่า 201 บุคคล ในจำนวนนี้รวมเยาวชน 16 คน ถูกแจ้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ทำให้เสื่อมเสีย ดูหมิ่น หรือคุกคามพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บุคคลที่พบว่ามีความผิดในการละเมิดมาตรา 112 จะได้รับโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปีต่อกระทง จำเลยคดีหมิ่นหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯบางคนต้องเผชิญกับการดำเนินคดีหลายกระทงภายใต้มาตรา 112 และโดนตัดสินโทษจำคุกตั้งแต่ 120 ถึง 300 ปี

การฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯและการจับกุมในระลอกปัจจุบันเริ่มขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศบังคับใช้ “ทุกกฎหมายและมาตรา” กับแกนนำนักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย

จนถึงปัจจุบันที่มีการเขียนบทความฉบับนี้ มีประชาชนอย่างน้อยสี่คนที่ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯกำลังถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี ได้แก่ สมาชิกทะลุวัง [1] ณัฐนิช [สงวนนามสกุล], เนติพร [สงวนนามสกุล] ; สมาชิกภาคีสหาย [2] เวหา แสนชนชนะศึก ; และ พลทหาร เมธิน (นามสมมติ) โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ณัฐนิชและเนติพร ได้เริ่มอดอาหารเพื่อประท้วงต่อการลิดรอนเสรีภาพของพวกเขา

นอกจากนี้ ประชาชนอีก 2 ราย ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ และ สมบัติ ทองย้อย ยังถูกจองจำหลังจากถูกตัดสินจำคุก 87 และ 6 ปี ตามลำดับ

กลไกการติดตามตรวจสอบสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) จำนวนมากได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯที่เพิ่มขึ้นของไทยและการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มงวด และยังได้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (WGAD) ได้ประกาศให้การลิดรอนเสรีภาพของผู้ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯเก้าคนเป็น “การกระทำโดยพลการ" เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายประการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี ผู้ถูกคุมขังแปดคนดังกล่าวข้างต้นได้รับการปล่อยตัวหลังจากรับโทษ ขณะที่คนที่เก้า อัญชัญ ปรีเลิศ ยังคงถูกคุมขังต่อไป

การจับกุมและดำเนินคดีเยาวชนภายใต้มาตรา 112 นั้นไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมาตรา 13(1) ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี กำหนดว่าเด็กมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลและความคิดในทุกรูปแบบ มาตรา 37(b) ของ CRC ระบุว่าเด็กไม่ควรถูกลิดรอนเสรีภาพโดยพลการและควรใช้การจับกุม การกักขัง หรือการจำคุกเด็กเป็นมาตรการสุดท้าย

FIDH และ ศูนย์ทนายฯ ย้ำถึงการเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยุติการจับกุม ดำเนินคดี และคุมขังประชาชนที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกอย่างสันติและชอบด้วยกฎหมาย FIDH และ ศูนย์ทนายฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้ ICCPR

|ติดต่อด้านสื่อ
Ms. Eva Canan (Paris) : +33648059157 / ecanan@fidh.org

Lire la suite