ประเทศไทย : 20 ปีผ่านไป ถึงเวลาทวงความยุติธรรมต่อการบังคับบุคคลให้สูญหายของสมชาย นีละไพจิตร

12/03/2024
Déclaration
en th
Somchai Poomlard / Bangkok Post / Bangkok Post via AFP

เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีการบังคับบุคคลให้สูญหายของทนายความด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงของไทย สมชาย นีละไพจิตร สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรสมาชิกในประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เรียกร้องให้ทางการไทยให้มีการสอบสวนเรื่องการหายตัวไปของนายสมชายอีกครั้ง รื้อฟื้นความพยายามเพื่อระบุชะตากรรมหรือที่อยู่ของเขา และให้ความยุติธรรมแก่เขาและครอบครัว

กรุงเทพฯ, ปารีส, 12 มีนาคม 2567 : FIDH, สสส., และ TLHR ขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของนายสมชาย และประณามความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนการหายตัวไปของนายสมชายอย่างเพียงพอและไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้

การกระทำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้มาตรา 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิผล และได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่สำหรับสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในกติกา ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของ ICCPR

FIDH, สสส., และ TLHR ยังเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance : ICPPED) โดยไม่ชักช้าและไม่มีการสงวนไว้ และรับประกันว่ากฎหมายของประเทศจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

ประเทศไทยลงนามใน ICPPED เมื่อเดือนมกราคม 2555 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฯ โดยในเดือนธันวาคม 2566 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยให้คำมั่นในการให้สัตยาบันต่อ ICPPED ภายในเดือนมิถุนายน 2567

ที่มา

สมชาย นีละไพจิตร ทนายความคนสำคัญที่ปกป้องสิทธิของสมาชิกชุมชนมุสลิมในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถูกลักพาตัวและหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ตามคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ บุคคลกลุ่มหนึ่งบังคับให้เขาขึ้นรถบนถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ แม้จะมีพยานหลักฐานแวดล้อมยืนยันการเสียชีวิตของเขาชัดเจน แต่ไม่พบศพของนายสมชาย

จากการที่นายสมชายหายตัวไป ศาลอาญากรุงเทพได้พิพากษายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายในข้อหาบังคับขู่เข็ญและปล้นทรัพย์ และพิพากษาลงโทษ พ.ต.ต. เงิน ทองสุข ในข้อหาบังคับขู่เข็ญเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2549 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นกล่าวว่า "พยานหลักฐานแวดล้อม" ยืนยันว่านายสมชาย "เสียชีวิต" และมี "เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่าสี่คนที่เกี่ยวข้อง" นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 หลังจากลี้ภัยด้วยตนเองมาเป็นเวลา 15 ปี

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามการยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายที่ถูกกล่าวหาว่าใช้กำลังบังคับและปล้นทรัพย์ พร้อมทั้งพิพากษากลับคำพิพากษาของ พ.ต.ต. เงิน ทองสุข

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ศาลฎีกาปฏิเสธไม่ให้รับหลักฐานทางโทรศัพท์ที่สำคัญเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายที่ถูกยกฟ้อง ซึ่งเดิมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชาย

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (DSI) ได้ประกาศปิดคดีของนายสมชาย โดยไม่พบผู้กระทำผิด

Lire la suite