การสืบสวนการหายตัวไปของนักเคลื่อนไหวและผู้ขอลี้ภัยชาวลาว

06/09/2019
Communiqué
en fr lo th

(กรุงปารีส) สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลและองค์กรสมาชิก Lao Movement for Human Rights (LMHR) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยทำการสืบสวนเร่งด่วน ในกรณีการหายตัวไปของนาย Od Sayavong นักเคลื่อนไหวและผู้ขอลี้ภัยชาวลาว

“Od ได้ขอลี้ภัยในประเทศไทย แต่ประเทศไทยนั้นกลายเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ไทยต้องชี้แจงชะตากรรมของนาย Od อย่างเร่งด่วน และต้องมีการบังคับใช้มาตรการรับประกันสิทธิผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (The Rights of Asylum Seekers) ตามมาตรฐานสากล”

นาย Adilur Rahman Khan รองประธานสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH)

ในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๒ เวลาประมาณ ๑๗ :๓๐ นาฬิกา นาย Od Sayavong อายุ 34 ปี นักเคลื่อนไหวจากแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว ได้ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายโดยหนึ่งในเพื่อนร่วมงาน ณ บ้านพักซึ่งนาย Od ได้แบ่งเช่ากับเพื่อนร่วมงานอีกสองคนที่เขตบึงกุ่ม จังหวัดกรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลาดังกล่าว นาย Od ได้ออกจากบ้าน โดยเพื่อนร่วมงานทั้งสองเข้าใจว่า นาย Od จะไปพบกันที่ร้านอาหารในเขตบึงกุ่มเพื่อรับประทานอาหารเย็น อีกทั้งร้านอาหารดังกล่าวเป็นร้านที่นาย Od ได้ทำงานเป็นพ่อครัวอยู่ และในเวลา ๑๘ :๓๔ นาฬิกา หนึ่งในผู้ร่วมงานได้รับข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คส่งจากบัญชีผู้ใช้ของนาย Od ระบุว่า ให้หุงข้าวแล้วรอตนด้วย ซึ่งในขณะนั้นเพื่อนร่วมงานทั้งสองของนาย Od ได้อยู่ที่ร้านอาหารแล้ว เหตุการณ์ครั้งนั้นคือครั้งสุดท้ายที่ได้ข่าวจากนาย Od ที่ไม่ได้กลับบ้านในคืนนั้น ในวันต่อมา เวลา ๑๗ :๐๓ นาฬิกา หนึ่งในเพื่อนร่วมงานได้พยายามโทรหานาย Od แต่พบว่า โทรศัพท์ของนาย Od นั้นปิดเครื่องอยู่ เช่นเดียวกัน เขาได้ส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ (Line) ซึ่งนาย Od ไม่ได้ตอบกลับ และไม่ได้เปิดอ่านข้อความนั้น และตั้งแต่เย็นของวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ โทรศัพท์ของนาย Od ก็ยังคงติดต่อไม่ได้

นาย Od ได้รอการโยกย้ายไปยันประเทศที่สาม ตั้งแต่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทย ได้ลงทะเบียนให้นาย Od ถือเป็นหนึ่งในบุคคลในความห่วงใย (Person of concern) ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี ๒๕๖๐

“นาย Od อาจจะเป็นผู้เสียหายรายล่าสุด ที่เกิดจากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อที่จะปราบปรามผู้คัดค้านรัฐบาลที่หลบหนีไปยันประเทศอื่น ประชาคมนานาชาติต้องช่วยกันประณามความร่วมมือในการปราบปรามครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การริดรอนพื้นที่ของภาคประชาสังคมในภูมิภาค”

นางสาว Vanida Thephsouvanh ประธาน Lao Movement for Human Rights (LMHR)

ก่อนหน้านี้ นาย Trung Duy Nhat นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวเวียดนามและผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง ได้สูญหายในวันที่ ๒๖ มกราคม ที่กรุงเทพมหานครที่ซึ่งเขาได้ขอลี้ภัยทางการเมือง คาดว่า นาย Nhat ได้ถูกลักพาตัวโดยบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ก่อนที่จะถูกนำตัวกลับไปยังประเทศเวียดนามโดยขัดต่อความต้องการของเขา และในเดือนมีนาคม ๒๕๖๒ ได้พบว่า นาย Nhat ได้ถูกขังอยู่ในเรือนจำที่เมืองฮานอย

ประวัติ

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ในประเทศไทย นาย Od Sayavong ได้เข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง และกิจกรรมอื่นๆด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของประเทศลาว อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม“Free Lao” กลุ่มอย่างไม่เป็นทางการของแรงงานอพยพและนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศลาว กลุ่มข้างต้นเน้นการจัดสัมมนาและจัดการประชุมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และในบางครั้ง เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสันติที่ ภายนอกอาคารของสถานทูตลาวประจำประเทศไทย หรือภายนอกสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงเทพมหานคร

ในเย็นของวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๒ นาย Od ได้โพสต์รูปของตนที่หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติที่กรุงเทพมหานคร สวมใส่เสื้อยืดสีขาว ประดับด้วยธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรของประเทศลาวซึ่งใช้การในสมัยปี ๒๔๙๕ จนถึงปี ๒๕๑๘
ในปัจจุบัน รัฐบาลลาวได้ประกาศยกเลิกการใช้ธงข้างต้นนี้ และการปรากฏของธง มักส่งผลให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลลาวอย่างบ่อยครั้ง

ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ระหว่างการพิจารณารายงานเบื้องต้นของประเทศลาว โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Human Rights Committee) ในการประชุมครั้งที่ ๑๒๓ ตัวแทนรัฐบาลลาวได้ให้เหตุผลการพิพากษาประชาชนสัญชาติลาวจำนวน ๓ คน ในเดือนมีนาคม ปี ๒๕๖๐ ว่า ทั้งสามได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๒๐ ปี เนื่องจากได้ชูธงชาติรูปช้างสีขาวสามเศียรระหว่างการชุมนุมอย่างสันติ ที่หน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทยในวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ (วันชาติลาว)

อีกทั้ง ทั้งสามคนได้โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวหลายครั้งผ่านทางเฟสบุ๊ค เกี่ยวเนื่องกับการคอรัปชั่น การทำลายป่า และการละเมิดสิทธิมนุษยชน สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ได้ตระหนักว่า เจ้าหน้าที่ลาวได้ตรวจตราบัญชีในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ของนักเคลื่อนไหวชาวลาว รวมถึงองค์กรต่างชาติอย่างบ่อยครั้ง

ข้อมูลติดต่อฝ่ายสื่อ
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) :นางสาว Eva Canan (ภาษาฝรั่งเศส และ อังกฤษ), - +๓๓๖๔๘๐๕๙๑๕๗ (ปารีส)
Lao Movement for Human Rights (LMHR) : นางสาว Vanida Thephsouvanh (ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และลาว) - +๓๓๑๖๐๐๖๕๗๐๖ (ปารีส)
Lire la suite