รายงานประจำปีเผยให้เห็นภาพที่มืดมนของสภาพเรือนจำ

09/03/2023
Rapport
en th
Manan Vatsyayana / AFP

กรุงเทพฯ, ปารีส, 9 มีนาคม 2566. สภาพเรือนจำในประเทศไทยยังคงต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศในปี 2565 FIDH และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวในรายงานเรือนจำประจำปีที่เผยแพร่ในวันนี้

รายงานความยาว 65 หน้า ครอบคลุมพัฒนาการ แนวโน้ม ข้อเท็จจริงและตัวเลขเกี่ยวกับระบบทัณฑสถานของไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2565 ข้อค้นพบในรายงานชี้ว่า ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในระบบทัณฑสถานของไทยเมื่อปี 2564 ทางการแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากบทเรียนในช่วงการระบาดของโรค เพื่อปรับปรุงสภาพการควบคุมตัว และประกันสวัสดิภาพของผู้ต้องขังในปี 2565

“อดีตผู้ต้องขังอธิบายถึงการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังรายใด แม้ทางการจะมีการดำเนินงานเชิงบวกอยู่บ้างเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ละเมิดสิทธิอย่างชัดเจน แต่ภาพรวมของสภาพเรือนจำยังคงดูมืดมน รัฐบาลไทยต้องเพิ่มความพยายามในการทำให้สภาพของเรือนจำ สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศและพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ”

Adilur Rahman Khan, เลขาธิการ FIDH

ประเด็นท้าทายอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขัง รวมถึงสภาพที่อยู่อาศัยที่แออัดและไม่เพียงพอ การปฏิบัติและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี สภาพที่ขาดสุขอนามัย อาหารและน้ำดื่มที่ด้อยคุณภาพอย่างมาก การไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม การทำงานที่ถูกเอาเปรียบขูดรีด การจำกัดการติดต่อกับโลกภายนอก การขาดกิจกรรมสันทนาการและบำบัดฟื้นฟู และกลไกร้องเรียนที่ไม่เป็นผล นอกจากนั้น ยังคงมีการจำกัดอย่างไม่เหมาะสมเพื่อไม่ให้องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าถึงเรือนจำเพื่อตรวจสอบสภาพภายใน

ในบรรดาพัฒนาการเชิงบวกบางประการในปี 2565 ทางการให้คำมั่นที่จะใช้มาตรการเพื่อขจัดการใช้แรงงานที่ละเมิดสิทธิในเรือนจำทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรมราชทัณฑ์สั่งการให้ยุติการทำสัญญาการใช้แรงงานในเรือนจำเพื่อผลิตแหอวน

พัฒนาการเชิงบวกอีกประการหนึ่ง คือจำนวนรวมของประชากรผู้ต้องขังลดลง 6% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มที่ลดลงซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ดี สภาพที่แออัดยังคงเกิดขึ้นทั่วไปในเรือนจำ โดยเรือนจำของไทย 106 จาก 143 แห่ง ยังคงมีจำนวนผู้ต้องขังสูงกว่าความจุอย่างเป็นทางการ โดยผู้ต้องขังส่วนใหญ่ (เกือบ 80%) เป็นผู้ต้องขังในคดียาเสพติด และผู้ต้องขังจำนวนมากยังเป็นบุคคลที่ถูกขังระหว่างรอการพิจารณา (เกือบ 20% ของผู้ต้องขังทั้งหมด) นอกจากนั้น จำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารเพิ่มขึ้น 14% สวนทางกับแนวโน้มที่ลดลงในช่วงสามปีก่อนหน้านี้

ในขณะที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลงในเรือนจำทั่วประเทศ ได้มีการผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการหลายประการที่นำมาใช้เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ เป็นที่น่าเสียใจว่า ในบรรดามาตรการที่ยุติลงนั้นรวมถึงมาตรการปล่อยตัวผู้ต้องขังก่อนกำหนด เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขัง

รายงานเรือนจำประจำปีของ FIDH และ UCL ฉบับที่สองในปีนี้ เป็นการประเมินสภาพในเรือนจำของไทยอย่างเป็นอิสระและรอบด้านในประเทศไทย ซึ่งไม่มีหน่วยงานอื่นทำ รายงานนี้ยังมีข้อเสนอแนะในทางปฏิบัติหลายข้อเพื่อปรับปรุงสภาพในเรือนจำสอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

Lire la suite