ดหมายร่วมว่าด้วยมาตรการข้อจำกัดในการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ

30/11/2021
Lettre ouverte
en th

คุณอายุตม์ สินธพพันธุ์
อธิบดีกรมราชทัณฑ์
ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี
ประเทศไทย

กรุงเทพฯ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564

เรื่อง มาตรการข้อจำกัดในการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ

เรียนคุณอายุตม์

เราซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับประเทศและนานาชาติที่ร่วมกันลงนามนี้ ขอเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เร่งยกเลิกมาตรการจำกัดการเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารในเรือนจำ ที่ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่การเริ่มระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมีนาคม 2563

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศงดการเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัฐบาลในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19

ถึงแม้ว่าเราจะยินดีกับการประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ว่าเรือนจำ 38 แห่งได้เปิดให้ครอบครัวเยี่ยมอีกครั้ง เราตั้งขอสังเกตุว่ายังมีการประกาศงดเยี่ยมอยู่ในทัณฑสถานที่เหลืออีก 97 แห่งทั่วประเทศไทย [1]

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 การสื่อสารทั้งหมดระหว่างผู้ต้องขังและครอบครัวต้องดำเนินการผ่านวิดีโอหรือโทรศัพท์บนแอปพลิเคชัน Line หรืออีเมล์เท่านั้น โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรือนจำแต่ละแห่ง มาตรการเยี่ยมผู้ต้องขังออนไลน์โดยกรมราชทัณฑ์ดังกล่าวได้สร้างข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้ต้องขัง ซึ่งรวมถึงการจำกัดเวลาการเยี่ยม 10 นาทีต่อครั้ง ให้เยี่ยมได้หนึ่งครั้งต่อเดือน และห้ามเยี่ยมออนไลน์สำหรับผู้ต้องขังที่กำลังกักตัว นอกจากนี้ ครอบครัวของผู้ต้องขังบางรายไม่สามารถเข้าถึงช่องทางสื่อสารออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับญาติผู้ต้องขังได้เลย

การเข้าพบทนายจะต้องได้รับการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นรายกรณี ตามแนวทางการป้องกันโรคที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่เรือนจำปฏิเสธการอนุญาตการการเข้าพบของทนายกับผู้ต้องขังโดยอ้างสถานการณ์โรคโควิด-19หรือช่วงกักตัวของผู้ต้องขัง ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่เรือนจำเฝ้าติดตาม แทรกแซงการเข้าพบ หรือตรวจสอบเอกสารและจดหมายระหว่างทนายกับผู้ต้องขัง ในเรือนจำบางแห่งยังมีอุปกรณ์สื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เวลาเข้าพบระหว่างทนายและลูกความมีอย่างจำกัด

แม้เราจะเข้าใจว่ามาตรการข้อจำกัดการเยี่ยมนั้นเป็นไปเพื่อปกป้องสุขภาพและสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ผู้ต้องขัง และผู้เยี่ยมในช่วงการระบาดใหญ่ แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ควรเคารพสิทธิของผู้ต้องขังในการติดต่อกับครอบครัว มิตรสหาย และโลกภายนอก เราคำนึงถึงคำแนะนำระหว่างกาล [interim guidance] ในช่วงโควิด-19ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ [United Nations (UN) Office of the High Commissioner for Human Rights (OHCHR)] ที่แนะนำว่า “มาตรการป้องกันใดๆ ต้องคำนึงถึงสิทธิและความจำเป็นของครอบครัวผู้ต้องขัง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระให้พวกเขา” และ “การแซกแทรงความเป็นส่วนตัวหรือครอบครัวจะต้องไม่เป็นไปโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย” [2]

คำแนะนำระหว่างกาลยังระบุด้วยว่า ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19นั้น “นักโทษต้องได้รับการรักษาไว้ซึ่งความสามารถในการเข้าพบที่ปรึกษาทางกฎหมาย และเจ้าหน้าที่เรือนจำหรือทัณฑสถานควรรับรองว่าทนายสามารถพูดคุยกับลูกความได้อย่างเป็นความลับ”

การติดต่อกับโลกภายนอกผ่านการเยี่ยม โทรศัพท์ และจดหมาย ตลอดจนการเข้าถึงทนายความนั้นได้รับการรับรองภายใต้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 (แก้ไขเพิ่มเติมในปี 2560) ของประเทศไทย ภายใต้มาตรา 60 กำหนดว่าผู้ต้องขัง “พึงได้รับการอนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลภายนอก” และมาตรา 61 กำหนดให้เรือนจำ “จัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้”

การติดต่อกับโลกภายนอกและการเข้าถึงทนายความยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสภาพเรือนจำ ข้อกำหนดที่ 58 ของข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง [United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners] หรือข้อกำหนดเนลสันแมนเดลา [the Nelson Mandela Rules] ระบุว่า ผู้ต้องขังควรได้รับอนุญาต “ให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนของตนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้โดยมีการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น” ข้อกำหนดที่ 61.1 กำหนดว่า “ผู้ต้องขังต้องได้รับโอกาส เวลา และการอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอในการเยี่ยม และในการสื่อสารและปรึกษาหารือกับที่ปรึกษากฎหมายที่ตนเลือก หรือผู้ให้บริการด้านกฎหมายโดยไม่ชักช้า ไม่มีการลอบฟังข้อมูลหรือไม่มีการตัดข้อความใดๆ และให้เป็นการสื่อสารอย่างเป็นความลับโดยสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านกฎหมายใดๆ ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับกฎหมายในประเทศที่บังคับใช้อยู่ การปรึกษาหารือนั้นอาจกระทำในลักษณะที่อยู่ในสายตาของเจ้าพนักงานเรือนจำ แต่ต้องไม่ได้ยินข้อความในการปรึกษานั้น”

นอกจากนี้ การเยี่ยมผู้ต้องขังและการติดต่อกับโลกภายนอกยังเป็นการประกันการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรมและสมศักดิ์ศรี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10(1) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง [International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR)] นอกจากนี้ ตามมาตรา 37 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก [Convention on the Rights of the Child (CRC)] แล้ว เด็กที่ถูกลิดรอนเสรีภาพมีสิทธิที่จะคงไว้ซึ่งการติดต่อกับครอบครัวผ่านจดหมายและการเยี่ยม

การจำกัดการติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลานานยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง ซึ่งทำให้ความเปราะบางต่อความทุกข์ทรมานทางอารมณ์และจิตใจที่ผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพประสพอยู่แล้วแย่ลงไปอีก การรับรองให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อกับครอบครัวและมิตรสหายได้อย่างสม่ำเสมอจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสวัสดิภาพที่ดีของผู้ต้องขัง

เนื่องจากรัฐบาลไทยได้ประกาศ “เปิดประเทศอีกครั้ง” ให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เราขอเรียกร้องให้ท่านดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อเปิดเรือนจำให้กับครอบครัวและทนายด้วย และเนื่องจาก 64% ของประชากรนักโทษ (183,304 คน จากทั้งหมด 284,224 คน) ได้รับวัคซีนครบแล้ว จากข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ทางกรมราชทัณฑ์ควรดำเนินการอย่างรวดเร็วให้เรือนจำกลับมาอนุญาตให้มีการเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอและให้มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังและครอบครัวโดยปราศจากข้อจำกัดที่ไม่สมสัดส่วนและไม่จำเป็น นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์รับรองว่าผู้ต้องขังจะสามารถเข้าพบและติดต่อกับผู้ปรึกษาทางกฎหมายได้ โดยการแทรกแซงใดๆในการติดต่อระหว่างผู้ต้องขังและทนายจะต้องมีเหตุผลอันชอบธรรมด้วยกฎหมาย

สุดท้าย เราเห็นว่าการใช้หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางการภาพ การระบายอากาศในอาคาร การหลีกเลี่ยงฝูงชน และการล้างทำความสะอาดมือ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดการแพร่กระจายของเชื้อ SARS CoV-2 แม้แต่เมื่อมีการค้นพบเชื้อสายพันธุ์ Omicron การติดตามผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อ SARS CoV-2 ยังเป็นที่แนะนำอย่างยิ่ง

ขอให้ท่านโปรดพิจารณาข้อเสนอแนะที่ได้กล่าวไปอย่างจริงจังและนำมาปฏิบัติใช้ด้วยความเร่งด่วน

ด้วยความเคารพ

Lire la suite