เงามืดมากกว่าแสงสว่าง พรรคการเมืองของไทยและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน

14/03/2019
Rapport
en th

(ปารีส) สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลระบุในรายงานที่เผยแพร่ วันนี้ ว่าพรรคการเมืองของไทยยังขาดความมุ่งมั่นอย่างหนักแน่นในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญต่างๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักสำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม

รายงานจำนวน 30 หน้า เรื่อง “ เงามืดมากกว่าแสงสว่าง พรรคการเมืองของไทยและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน ” ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับทัศนคติของพรรคการเมืองต่างๆ และพันธกิจต่อประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

“ห้าปีผ่านไปภายใต้การปกครองที่กดขี่โดยรัฐบาลทหาร เป็นที่น่าผิดหวังที่พรรคการเมืองส่วนมากของไทยล้มเหลวที่จะยึดมั่นในพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน ความไม่กระตือรือร้นนี้เป็นตัวชี้วัดที่เตือนประเทศไทยว่าความท้าทายต่างๆจะยังคงมีอยู่ต่อไป หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม”

เด็บบี สตอตธาร์ด เลขาธิการทั่วไป สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล

รายงานฉบับนี้อาศัยคำตอบจากแบบสอบถามที่จัดทำโดยสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล โดยคำตอบที่ได้รับจากพรรคการเมืองไทย 32 พรรคระบุว่า ถึงแม้พรรคการเมืองจะมีพันธกิจในแง่บวกต่อประเด็นเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน สภาพการควบคุมตัว และผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองต่างๆมีความลังเลในการตอบประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่าพรรคการเมืองแทบไม่ให้การสนับสนุนต่อมาตรการที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความคิดเห็นและการแสดงออก มีเพียงส่วนน้อยที่สนับสนุนการแก้ไขกฏหมายหมิ่นประมาททางอาญา ในขณะที่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนการแก้ไขไม่ให้มีโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ละเมิดประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 (กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และยังเป็นที่น่าผิดหวังที่พรรคการเมืองส่วนมากเห็นชอบอย่างหนักแน่นต่อการใช้โทษประหาร ในอีกประเด็นหนึ่ง ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาอย่างมากกับวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากลึก แต่เป็นเรื่องน่าเสียใจที่ พรรคการเมืองไม่กระตือรือร้นอยากให้มีการสอบสวนอย่างเป็นกลาง ในกรณีที่เกิดข้อกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง รวมทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ผลสำรวจยังเผยให้เห็นความลังเลในการจำกัดบทบาทของกองทัพในภาคการเมือง มีพรรคการเมืองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งจากจำนวนที่ตอบแบบสอบถามระบุว่าสนับสนุนการลดงบประมาณเพื่อการป้องกันประเทศลงอย่างมาก และมีเพียงไม่กี่พรรคที่มองว่าการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นประเด็นเร่งด่วนสำหรับรัฐบาลชุดต่อไป

สำหรับด้านที่เป็นบวก ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองโดยส่วนใหญ่สนับสนุนการบัญญัติกฏหมายที่ครอบคลุมหลักการไม่ส่งกลับของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย กว่าครึ่งหนึ่งของพรรคการเมืองทั้งหมดสนับสนุนมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพการณ์ควบคุมตัวที่เลวร้าย โดยนำมาตรฐานระหว่างประเทศมาปรับใช้ให้เป็นส่วนหนึ่งของกฏหมายในประเทศ ในส่วนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผลการสำรวจพบว่าพรรคการเมืองสนับสนุนให้มีปฏิสัมพันธ์กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ

ข้อเสนอแนะจำนวนมากที่อยู่ในรายงานให้แผนปฏิบัติการสำหรับสมาชิกรัฐสภาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ในการจัดการปัญหาในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆหลังการเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม

ข้อมูลติดต่อ
FIDH : Ms. Eva Canan (English, French) - Tel : +33648059157 (Paris)
Lire la suite