ประเทศไทย : วาระสิทธิมนุษยชน 10 ประการสำหรับรัฐบาลใหม่

05/09/2023
Communiqué
en th

ในจดหมายถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) เน้นย้ำถึงประเด็นหลักด้านสิทธิมนุษยชน 10 ประเด็นที่ไม่ได้รับการดำเนินการแก้ไขภายใต้รัฐบาลชุดก่อน การละเลยโดยเจตนานี้ทำให้ประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยแย่ลงอย่างมาก และมีส่วนทำให้ประเทศไทยไม่ได้ที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) สมัย พ.ศ. 2558-2560

ปารีส, 5 กันยายน 2566. รัฐบาลใหม่ของไทยควรให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญและเรื้อรังในระหว่างการดำรงตำแหน่ง สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องวันนี้

รัฐบาลใหม่มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นแนวโน้มด้านสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำของไทย โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและการลอยนวลพ้นผิดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษ การล้มเหลวในการแก้ไขปัญหามรดกด้านสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายจากรัฐประหารโดยกองทัพในปี พ.ศ. 2557 และจากการปกครองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนชาวไทยและชื่อเสียงระหว่างประเทศของไทย,” General Adilur Rahman Khan, เลขาธิการ FIDH กล่าว

FIDH ได้ระบุและเลือกประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยวิเคราะห์ข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้รับซ้ำหลายครั้งจากกลไกการติดตามด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่าง ๆ ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ดังกล่าว FIDH ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปฏิบัติในประเด็นต่อไปนี้ : พื้นที่สำหรับองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ; ความรับผิดชอบต่อการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมานและการบังคับให้สูญหาย ; การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ; การแก้ไขกฎหมายที่มีปัญหา ; การปรับปรุงสภาพเรือนจำ ; สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ; โทษประหารชีวิต ; และความเท่าเทียมทางเพศ

FIDH ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรีของเขา ดำเนินการอย่างจริงจังในช่วง 100 วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง เพื่อนำประเด็นข้างต้นมาเป็นแก่นหลักของวาระด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล และจัดทำแผนกระบวนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้อง การดำเนินการนี้จะยังช่วยให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่แข็งแกร่งสำหรับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ สมัย พ.ศ. 2068-2070

พื้นหลัง

การเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดกระแสการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยในปี พ.ศ. 2563 ซึ่งเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของระบบการเมืองและเศรษฐกิจสังคมของประเทศ มีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 75.7% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย

ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด โดยได้ที่นั่ง 151 ที่นั่งจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 500 ที่นั่ง ไม่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามากพอที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่กองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงจากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกทั้งหมด 250 คนนั้นได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2557 โดยมีสมาชิกวุฒิสภาเพียง 13 คนเท่านั้นที่ลงคะแนนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในสามผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีจำนวนที่นั่งมากเป็นอันดับสองในรัฐสภา ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองอื่น ๆ อีก 14 พรรค (ไม่รวมพรรคก้าวไกล) และมากกว่าครึ่งของสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2566 เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ

รัฐบาลชุดก่อนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 ที่มีปัญหาอย่างมาก ได้สานต่อนโยบายและการปฏิบัติที่กดขี่หลายประการของคณะรัฐประหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์เอง

Lire la suite