ประเทศไทย : การฟ้องปิดปากต่อนางอังคณา นีละไพจิตร โดยบริษัทธรรมเกษตร ว่าด้วยการหมิ่นประมาท

06/12/2019
Appel urgent
en th

THA 002 / 1119 / OBS 098
การฟ้องปิดปาก
ประเทศไทย
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) ขอเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากท่าน อันเนื่องด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยที่จะกล่าวถัดไปนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :
กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เกี่ยวกับการฟ้องปิดปาก ของ นาง อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประจำประเทศไทย นางอังคณาได้รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างมากมาย รวมถึง ในเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิทธิของชนกลุ่มน้อยและคนไร้สัญชาติ ประเด็นการอุ้มหาย และการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งนางอังคณาได้รับรางวัล Prestigious Ramon Magsaysay ในปีพ.ศ. ๒๕๖๒ [1]

จากข้อมูลที่ได้รับแจ้ง ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๒ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด (ประเทศไทย) ซึ่งจัดทำฟาร์มเลี้ยงไก่ที่จังหวัดลพบุรี ได้ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมี นาง อังคณา นีละไพจิตร เป็นจำเลย บริษัทธรรมเกษตร ได้กล่าวหานางอังคณาว่า ละเมิดมาตรา ๓๖๒ (การหมิ่นประมาท) และ มาตรา ๓๒๘ (หมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา) ของประมวลกฎหมายอาญา โดยระบุว่า นางอังคณาได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์เพื่อให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นางสาว สุธารี วรรณศิริ [2] เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ และถึง อาจารย์ งามศุกร์ รัตนเสถียร ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทธรรมเกษตรได้ยื่นฟ้องคดีอาญาเนื่องด้วยการหมิ่นประมาท ต่อทั้ง นางสาว สุธารี วรรณศิริ และ นางสาว งามศุกร์ รัตนเสถียร

ในปี ๒๕๖๑ นางอังคณา นีละไพจิตร ได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์กล่าวถึงอีกโพสต์โดยบุคคลที่สาม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับคดีความของ นางสาว สุธารี วรรณศิริ ข้อความดังกล่าว ระบุไฮเปอร์ลิงก์นำไปสู่คลิปวิดิโอที่เผยแพร่โดยองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ฟอร์ตี้ฟายไรต์ เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ โดยวิดิโอข้างต้น กล่าวถึง แรงงานต่างชาติชาวพม่า รวมถึง นาย นาน วิน ซึ่งล้วนเป็นลูกจ้างของบริษัทธรรมเกษตร ได้อธิบายถึงการที่บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องคดีอาญาต่อพวกเขา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพวกเขาได้แจ้งปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทต่อเจ้าหน้าที่ไทย และในโพสต์ที่สองของนางอังคณา นางอังคณาได้กล่าวถึงโพสต์ของ องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งระบุไฮเปอร์ลิ้งก์นำไปสู่คลิปวิดิโอข้างต้น และบริษัทธรรมเกษตรถือว่าวิดิโอดังกล่าวนั้นเป็นการหมิ่นประมาท และสิ่งใดๆอันเกี่ยวเนื่องจากวิดิโอดังกล่าว ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทด้วยเช่นกัน

ศาลอาญานัดไกล่เกลี่ยคดีอาญา ระหว่าง บริษัทธรรมเกษตร และ นาง อังคณา นีละไพจิตร ในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และหากการไกล่เกลี่ยล้มเหลว ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องของคดี นาง อังคณา นีละไพจิตร ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ และหากศาลพบว่าผิดจริง นางอังคณา นีละไพจิตร อาจต้องโทษจำคุกถึง ๔ ปีและปรับมากถึง ๔๐๐,๐๐๐ บาท (๑๒,๐๐๐ ยูโร โดยประมาณ)

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ย้ำว่า บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่งต่อจำเลยมากกว่า ๒๐ รายในอดีต รวมถึง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนงาน และนักข่าว ที่อ้างว่าหมิ่นประมาทบริษัท [3]

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ขอย้ำว่า ในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ระหว่างสิบวันในการเยือนประเทศไทยของ คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Working Group on Business and Human Rights) คณะทำงานได้กำชับกับรัฐบาลไทยว่า คดีฟ้องร้องหมิ่นประมาทต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจ เพื่อที่จะกดขี่สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ เสรีภาพของผู้ถือสิทธิ องค์กรประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ประณามการฟ้องร้องปิดปาก ของคดี นางอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งเหมือนว่า เป็นการลงโทษนางอังคณาที่ได้ใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายในการใช้เสรีภาพการแสดง กลุ่มสังเกตการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทย หยุดการคุกคามต่างๆต่อ นาง อังคณา นีละไพจิตร นางสาว สุธารี วรรณศิริ นาย นาน วิน และ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ตกเป็นจำเลยของคดีหมิ่นประมาทโดยบริษัทธรรมเกษตร

โปรดดำเนินการ :
โปรดเขียนส่งเจ้าหน้าที่ไทย โดยเรียกร้องให้ :
๑. หยุดการคุกคามต่างๆ รวมถึง ในชั้นศาล ต่อ นาง อังคณา นีละไพจิตร นางสาว สุธารี วรรณศิริ นาย นาน วิน และ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนในประเทศไทย
๒. ให้รับรองว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยจะสามารถดำเนินกิจกรรมถูกต้องตามกฎหมายได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่มีการกีดขวาง หรือ ก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อการตอบโต้ด้วยกำลัง
๓. ให้รับประกัน สิทธิเสรีภาพการแสดงออก (Freedom of expression) ดังที่ปรากฏในมาตรา ๑๙ ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)
๔. แก้ไขบทบัญญัติการหมิ่นประมาท (มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ ในประมวลกฎหมายอาญา) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ
๕. ปฏิบัติตามบัญญัติทั้งหมดภายใต้ ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมติโดย ที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ๒๕๔๑ โดยเฉพาะในมาตราที่ ๑ และ ๑๒
๖. ให้รับรองว่า ในทุกสถานการณ์ จะเคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และ ตราสารระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเข้าร่วม

ส่งถึง :

• พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๒๘๒ ๕๑๓๑
• นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๖๔๓ ๕๓๒๐ อีเมล minister@mfa.go.th
• นาย สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๙๕๓ ๐๕๐๓
• พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๒๕๑ ๕๙๕๖ หรือ +๖๖ (๐) ๒ ๒๕๑ ๘๗๐๒
• นาย วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีเมล help@nhrc.or.th
• ฯพณฯ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แฟกซ์ +๔๑ ๒๒ ๗๑๕ ๑๐ ๐๐ / ๑๐ ๐๒ อีเมล mission.thailand@ties.itu.int
• สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม แฟกซ์ +๓๒ ๒ ๖๔๘ ๓๐ ๖๖ อีเมล thaibxl@pophost.eunet.be

โปรดเขียนส่งถึงผู้แทนทางการทูตของประเทศไทย ประจำประเทศของท่านด้วยเช่นกัน

***

นครปารีส-เจนีวา วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

กรุณาแจ้งให้ทราบ ในกรณีที่ได้นำคำร้องนี้ไปดำเนินการใดๆต่อ

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ถูกก่อตั้งในปี ๒๕๔๐ โดย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) โครงการมีเป้าหมายเพื่อการป้องกัน หรือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง FIDH และ OMCT เป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ติดต่อกลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) โทรสายด่วน :
อีเมล : Appeals@fidh-omct.org
โทร หรือ แฟกซ์ สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) +๓๓ (๐) ๑ ๔๓ ๕๕ ๒๕ ๑๘ หรือ +๓๓ ๑ ๔๓ ๕๕ ๑๘ ๘๐
โทร หรือ แฟกซ์ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) +๔๑ (๐) ๒๒ ๘๐๙ ๔๙ ๓๙ หรือ +๔๑ ๒๒ ๘๐๙ ๔๙ ๒๙

Lire la suite