รายงานประจำปีเกี่ยวกับสภาพเรือนจำเน้นให้เห็นความบกพร่องของมาตรการรับมือโควิด-19 และสภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

24/03/2022
Rapport
en es fr th
Handout / Royal Thai Army / AFP

(กรุงเทพฯ, ปารีส) FIDH และสสส.ได้เผยแพร่รายงานประจำปีเกี่ยวกับสภาพเรือนจำเป็นฉบับแรกในประเทศไทยในวันนี้ เน้นให้เห็นมาตรการรับมือโควิด-19 ที่บกพร่องของรัฐบาล และสภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานในทัณฑสถานของประเทศ แม้จะมีการลดจำนวนประชากรผู้ต้องขัง และกระตุ้นให้ดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปด้านนโยบาย

“ภายหลังการเสนอแนะหลายปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดของไทย และการใช้มาตรการแทนการควบคุมตัวเพื่อลดจำนวนประชากรในเรือนจำของประเทศ ในที่สุดรัฐบาลก็ได้เริ่มตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ อย่างไรก็ดี การลดความหนาแน่นของประชากรในเรือนจำอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ จำเป็นต้องมีการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพื่อประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนได้รับการปฏิบัติตามศักดิ์ศรีของมนุษย์ และอย่างมีมนุษยธรรม”

อดีล ราห์เมน คาน, เลขาธิการของ FIDH

รายงานสภาพเรือนจำประจำปีของ FIDH และสสส. เป็นการประเมินสภาพเรือนจำในประเทศไทยอย่างเป็นอิสระ และเป็นองค์รวมเพียงฉบับเดียว รายงานประจำปี 2565 นี้ครอบคลุมพัฒนาการ แนวโน้ม ข้อเท็จจริง และตัวเลขเกี่ยวกับระบบทัณฑสถานของไทย ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2564 และได้ให้ข้อเสนอแนะที่นำไปปฏิบัติได้จริงหลายประการเพื่อปรับปรุงสภาพของเรือนจำ

มาตรการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำที่ล่าช้าและไม่เพียงพอของทางการ เป็นข้อกังวลสำคัญที่รายงานนี้มุ่งสำรวจ แม้องค์กรพัฒนาเอกชนจะส่งสัญญาณเตือนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการระบาดถึงมาตรการที่ไม่เพียงพอของรัฐบาลในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระบบทัณฑสถาน กว่าหนึ่งปีต่อมา ทางการกลับไม่สามารถเตรียมการรับมือกับสถานการณ์การติดเชื้ออย่างรวดเร็วระลอกใหม่ มาตรการป้องกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ และอัตราการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสในทัณฑสถานทั่วประเทศ

ข้อกังวลที่ต่อเนื่องอีกประการหนึ่งคือ สภาพในเรือนจำ ซึ่งในปี 2564 ยังคงต่ำกว่ามาตรฐานระหว่างประเทศ จากข้อมูลการสัมภาษณ์ของ FIDH กับอดีตผู้ต้องขัง 11 คน เราพบว่ามีปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ทั้งนี้รวมถึง 1) ความแออัดในเรือนจำ 2) ผู้ต้องขังตกเป็นเหยื่อของการลงโทษที่โหดร้าย การปฏิบัติที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการเลือกปฏิบัติ 3) สภาพสุขอนามัยที่ย่ำแย่ 4) การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งด้านสุขภาพจิต 5) การแยกโดดเดี่ยวจากโลกภายนอกมากขึ้น และขาดโอกาสในการสันทนาการ และ 6) กลไกร้องเรียนที่ไม่เป็นผล

ในส่วนของพัฒนาการเชิงบวก จำนวนรวมของประชากรผู้ต้องขังในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องถึง 27% อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่าประชากรผู้ต้องขังของไทยยังคงอยู่ในระดับสูง และระบบทัณฑสถานยังคงอยู่ในสภาพแออัดเรื้อรัง

นอกจากนั้น แม้ว่าจำนวนผู้ต้องขังในคดียาเสพติดยังคงเป็นประชากรผู้ต้องขังส่วนใหญ่ของไทย หรือคิดเป็นเกือบ 82% ณ เดือนธันวาคม 2564 กระทรวงยุติธรรมของไทยได้สนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายยาเสพติดที่ควรดำเนินการมานานแล้ว ทั้งนี้เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ กฎหมายที่ประกาศใช้ในปี 2564 เน้นการป้องกันและการบำบัดแทนที่จะลงโทษผู้ครอบครองยาเสพติดเพื่อเสพเพียงจำนวนน้อย ทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อปรับบทลงโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครอง และใช้ยาเสพติด ให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของความผิด

ประการสุดท้าย จำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม 2564 จำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารลดลง 31%

รายงานประจำปี 2565 เกี่ยวกับสภาพเรือนจำ เป็นการเผยแพร่หลังจาก FIDH และสสส.ได้เคยเผยแพร่รายงานอื่นอีกสองฉบับเกี่ยวกับสภาพในเรือนจำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ : “Behind the walls – A look at prison conditions in Thailand after the coup” เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และ “Flawed models – Implementation of international standards in Thailand’s ‘model’ prisons for women” เผยแพร่เมื่อเดือนธันวาคม 2562

Lire la suite