ขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

11/11/2021
Lettre ouverte
en th

11 พฤศจิกายน 2564

นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต
กรุงเทพฯ 10300
ประเทศไทย

หัวข้อ : ขอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

เรียน นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรา, 10 องค์กรที่ลงรายชื่อด้านล่างนี้, ประสงค์ให้รัฐบาลเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมและผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รวมถึงรับรองว่าเอกสารที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับที่...) พ.ศ.... (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) แต่ยังคงไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลการให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎหมาย รวมถึง “(สำเนา) ยืนยันมติ” ตลอดจนข้อสรุปโดยละเอียดของกฎหมายและผลกระทบของกฎหมายบนเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญ เรายังมีความวิตกกังวลว่าในเมื่อคณะรัฐมนตรีได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับอื่นที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายนแล้ว เหตุใดจึงยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ

เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าด้วยมาตรการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแนวปฏิบัติดังกล่าวเสนอว่ารัฐบาลควร “ให้ข้อมูลที่มากเพียงพอแก่ประชาชนในเรื่องของข้อกฎหมายและมาตรการฉุกเฉิน โดยต้องสื่อสารอย่างรวดเร็วและออกประกาศในทุกภาษาราชการของรัฐ ... ต้องเผยแพร่ข้อมูลแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงระเบียบและข้อกฎหมายใหม่ รวมทั้งสามารถปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นได้”

เมื่อต้นปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างแก้ไขฉบับก่อนหน้านี้ ในระหว่างการรับฟังความเห็น ประชาชนได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมอบอำนาจกว้างขวางให้รัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเช่น ในร่างแก้ไขฉบับก่อนหน้านี้มีการกำหนดว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอาจดำเนินการ “กำหนดมาตรการการจัดการเกี่ยวกับ … การชุมนุมหรือการทำกิจกรรมเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกำหนดมาตรการอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้บุคคลต้องปฏิบัติ ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะสั่งให้ประชาชนในทุกพื้นที่หรือบางพื้นที่งดประกอบกิจการบางชนิดที่อาจเป็นแหล่งหรือก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง หรือห้ามให้อยู่ร่วมกันในที่ประชุมหรือชุมนุมเกินจำนวนที่กำหนดโดยจะกำหนดเงื่อนไขในการประชุมหรือชุมนุมไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้”

ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 รองโฆษกรัฐบาลยังระบุว่า ในอนาคต อาจมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อเป็นกฎหมายหลัก ซึ่งให้อำนาจในการควบคุมและจัดการกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะประกาศใช้แทนที่พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เพิ่งประกาศขยายระยะเวลาไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะมีการยุติการใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในเร็ว ๆ นี้ แต่เรายังคงกังวลว่า พระราชบัญญัติโรคติดต่อที่ได้รับการแก้ไข อาจเป็นมาตรการข้อกฎหมายที่ผิดพลาดซ้ำรอยกับพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะในแง่การลิดรอนสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของประชาชน

ตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีรายงานข่าวว่าทางการได้จับกุมและดำเนินคดีกับผู้ประท้วงไปแล้วกว่า 1,170 คน ในจำนวนนี้ ทางการมุ่งเป้าเพ่งเล็งนักวิจารณ์และนักเคลื่อนไหวโดยใช้คำสั่งฉุกเฉินบังหน้า นอกจากนี้ การกักตัวบุคคลเนื่องจากละเมิดข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ยังมีความย้อนแย้งในตัวเอง เนื่องจากการควบคุมตัวบุคคลไว้รวมกันในพื้นที่แออัดและไม่ถูกสุขอนามัยนั้นถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรัส ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อาจได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี และ/หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ภายใต้บริบทของภัยคุกคามสาธารณสุขที่ร้ายแรงและเหตุฉุกเฉินสาธารณะ เช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การตอบสนองที่มีประสิทธิภาพอาจหมายรวมถึงการจำกัดสิทธิบางอย่างชั่วคราว ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม การจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องตั้งอยู่บนหลักกฎหมายที่ชัดเจน บังคับใช้ในกรณีจำเป็นและได้สัดส่วน จึงจะถึงว่ามีความชอบธรรมตามเป้าประสงค์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อบังคับดังกล่าวไม่ควรเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างกว้างขวางโดยพลการ และไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ นอกจากนี้ กฎหมายที่บังคับใช้จะต้องกำหนดขอบเขตระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน และต้องผ่านการตรวจสอบทบทวนก่อนประกาศใช้

การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบตามข้อกำหนดของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินของไทยมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อบทที่คลุมเครือและตีความได้กว้างขวางของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เราเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ ยังคงมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับข้อบทในพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนดต่าง ๆ จึงยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศเช่นกัน

ขอขอบคุณที่ท่านให้ความใส่ใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายนี้ เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะรับฟังเพิ่มเติมว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการรับมือกับประเด็นสำคัญนี้อย่างไรบ้าง

ขอแสดงความนับถือ

ARTICLE 19
Asia Democracy Network
Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
CIVICUS : World Alliance for Citizenship Participation
FIDH – International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
iLaw
International Commission of Jurists
Manushya Foundation

Lire la suite