จดหมายร่วมเรื่องสภาพเรือนจำและCOVID-19

19/07/2021
Lettre ouverte
en es fr th

คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน
กระทรวงยุติธรรม
404 ถนนแจ้งวัฒนะ,
แขวงทุ่งสองห้อง, เขตหลักสี่
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

กรุงเทพฯ, 19 กรกฎาคม 2564

เรื่อง : จัดการปัญหาสภาวะแออัดในเรือนจำอย่างเร่งด่วนและปกป้องสุขภาพผู้ต้องขังในช่วงวิกฤต COVID-19

เรียนคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พวกเราในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและระหว่างประเทศ ขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะแออัดและวิกฤติ COVID-19 ในเรือนจำทั่วประเทศ

กลางเดือนเมษายน 2563 ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด เราได้ส่งจดหมายร่วมไปยังกรมราชทัณฑ์ซึ่งเราได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบร้ายแรงของการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำในประเทศไทย หนึ่งปีผ่านไป จำนวนผู้ป่วย COVID-19 พุ่งสูงขึ้นทั่วเรือนจำไทย ท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสที่กระทบหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่าตรวจพบผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพจำนวน 1,795 รายจากจำนวนนักโทษในเรือนจำทั้งหมด 3,274 คน (คิดเป็น72%) และในทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพจำนวน 1,040 รายจากนักโทษในเรือนจำทั้งหมด 4,475 คน (คิดเป็น 30%) ความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระบบเรือนจำไทยเพิ่งปรากฏให้เห็นหลังจากที่นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยหลายคนตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสในระหว่างการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีหรือหลังจากได้รับการประกันตัวจากเรือนจำเหล่านั้นได้ไม่นาน ช่วงระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคมถึง 15 กรกฎาคม 2564 มีผู้ต้องขัง 38,019 รายในเรือนจำทั่วประเทศติดเชื้อโรค COVID-19 ตัวเลขนี้คิดเป็น 12% ของจำนวนประชากรในเรือนจำทั้งหมด

สภาวะแออัดและการแพร่กระจายของโควิดในเรือนจำนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ขาดและควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้สภาพในสถานที่คุมขังแย่งลงไปกว่านี้

แม้จะมีการประกาศเกี่ยวกับมาตรการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางกลุ่มเพื่อลดความแออัดของเรือนจำ แต่จำนวนผู้ต้องขังกลับไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การระบาดของโรค COVID-19 ระลอกที่สาม จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 1 กรกฎาคม 2564 จำนวนผู้ต้องขังลดลงเพียง 0.2% จากเดิม 307,910 ราย ลดเหลือ 307,007 ราย

เราขอเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการที่จำเป็นทุกๆทางโดยทันที ซึ่งรวมถึงในระดับนโยบาย เพื่อจัดการกับปัญหาสภาวะแออดในเรือนจำที่ยังคงมีอยู่ย่างต่อเนื่อง พวกเรายินดีและเห็นด้วยกับแผนการของกระทรวงที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติด อันจะนำไปสู่การปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ต้องโทษคดียาเสพติดสถานเบา และเราขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายนี้อย่างรวดเร็ว

เราขอย้ำถึงข้อเสนอแนะที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้เกี่ยวกับมาตรการปล่อยตัวผู้ต้องขังบางกลุ่มที่ถูกต้องขังด้วยลหุโทษ และ/หรือโทษที่ไม่รุนแรง ซึ่งได้แก่ ผู้ต้องขังที่มีอายุเกิน 60 ปี ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ต้องขังก่อนฟ้องหรือระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องขังที่ต้องคำพิพากษาจำคุกไม่เกินสองปี ผู้ต้องขังที่เหลือเวลารับโทษจำคุกหนึ่งปีหรือน้อยกว่า ผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังในความผิดเกี่ยวกับการเข้าเมือง ผู้ต้องขังหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ และผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังโดยไม่มีฐานทางกฎหมายเพียงพอ ผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวอาจยังต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ไม่ใช่การควบคุมตัวที่เหมาะสม ที่สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษที่ไม่ต้องถูกควบคุมตัว (Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures )หรือข้อกำหนดโตเกียว (Tokyo Rules)

รายงานอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับผู้ต้องขังจำนวนมากที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโรค COVID-19 นั้นยังได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสภาพเรือนจำ มาตรการป้องกันและการบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอในช่วงที่การระบาดของโรค COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

พวกเรายินดีและเห็นด้วยกับมาตรการเร่งด่วนหลายข้อ เช่น การตรวจเชื้อเชิงรุก การกักตัว และการส่งตัวผู้ต้องขังที่ติดเชื้อบางกลุ่มไปยังโรงพยาบาลนอกเรือนจำ ที่ทางกรมราชทัณฑ์ได้ออกมาเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสในสถานที่คุมขังนับตั้งแต่การระบาดของโรค COVID-19 ระลอกล่าสุด ตลอดจนมาตรการตรวจเชื้อและกักตัว 14 วันสำหรับผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัว

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในสถานที่คุมขังเนื่องจากเรือนจำเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เจ้าหน้าที่รัฐควรเร่งจัดสรรวัคซีนโรค COVID-19 ให้แก่เรือนจำทุกที่อย่างรวดเร็ว ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อไวรัสต้องสามารถเข้าถึงการรักษาและการดูแลจากแพทย์อย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกับประชาชนทั่วไปโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือความล่าช้าที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ สำหรับผู้ต้องขังที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ กรมราชทัณฑ์จะต้องรับรองให้แน่ใจว่าสภาพเรือนจำจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (UN Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela Rules) และกฎว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช่การควบคุมตัวสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok Rules) การปฏิบัติตามมาตรฐานข้างต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพื้นที่และการถ่ายเทของอากาศที่เพียงพอ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยต่อการดูแลความสะอาดที่เหมาะสมและการดูแลสุขภาพร่างกาย ซึ่งรวมถึงการดูแลสุขภาพที่เป็นการเฉพาะตามเพศสภาพด้วย

สุดท้ายนี้ กรมราชทัณฑ์ควรที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรค COVID-19 ในเรือนจำที่ถูกต้องและทันต่อเวลาแก่ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่เรือนจำ และประชาชนทั่วไปอย่างโปร่งใส

ขอขอบคุณอย่างยิ่งที่ให้ความสนใจในปัญหาสำคัญนี้

ด้วยความเคารพ

ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR)
International Federation for Human Rights (FIDH)
Fortify Rights
Human Rights Watch (HRW)
Union for Civil Liberty (UCL)
Manushya Foundation
Thai Lawyers for Human Rights (TLHR)

Lire la suite