แถลงการณ์โดยองค์การพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 17 และ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

25/11/2020
Déclaration
en th

เรา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีรายนามด้านท้าย ขอประณามการใช้กำลังของตำรวจไทยโดยไม่มีความจำเป็นและเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมโดยสงบระหว่างการเดินขบวนไปยังรัฐสภา กรุงเทพมหานครฯ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เรากังวลว่าทางการอาจใช้มาตรการแบบเดียวกันกับผู้ชุมนุมซึ่งประกาศว่าจะทำการชุมนุมอีกครั้งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักงานใหญ่ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตั้งเครื่องกั้นและลวดหนามเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการเดินขบวนโดยสงบของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยไปยังอาคารรัฐสภา ผู้ชุมนุมวางแผนที่จะชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาระหว่างที่สมาชิกรัฐสภากำลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งเจ็ดฉบับ รวมทั้งร่างที่เสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ (iLaw) โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะราษฎรและพันธมิตร ทว่าตำรวจไม่ยินยอมให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นและเมื่อผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้น ตำรวจควบคุมฝูงชนได้ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมด้วยสีม่วง และดูเหมือนจะมีการผสมสารเคมีจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งการใช้ระเบิดขว้างแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมหลายพันคน รวมถึงนักเรียนนักศึกษาซึ่งบางส่วนเป็นเด็ก มีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงตั้งแต่เวลาประมาณ 14.25 น. และตำรวจยังคงพยายามสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำ ใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงเวลาค่ำ

ตำรวจไม่สามารถจัดการเพื่อขัดขวางความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยกับผู้ชุมนุมฝ่ายรักสถาบันฯ หรือที่เรียกว่ากลุ่มคน “เสื้อเหลือง” ที่อยู่บริเวณใกล้กับสี่แยกเกียกกายซึ่งใกล้กับอาคารรัฐสภาได้ ในเบื้องต้นตำรวจควบคุมฝูงชนได้ทำการแยกคนทั้งสองกลุ่มออกจากกัน อย่างไรก็ตาม ภาพจากคลิปวีดิโอในโซเชียลมีเดียซึ่งถูกเผยแพร่ในภายหลังแสดงให้เห็นว่าตำรวจได้แจ้งกับผู้ชุมนุมฝ่ายรักสถาบันฯ ว่าจะมีการถอนกำลัง และไม่กี่วินาทีต่อมาตำรวจได้ถอนกำลังจากที่มั่นที่อยู่ระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่ม ภาพจากคลิปวีดิโอแสดงให้เห็นว่าผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายได้ทำการขว้างปาก้อนหิน และท่อนไม้ใส่กันในระหว่างที่เกิดการปะทะกัน อีกทั้งระหว่างการถ่ายทอดสดยังมีเสียงที่ดูเหมือนจะเป็นเสียงปืนด้วย

ศูนย์เอราวัณรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างการชุมนุมอย่างน้อย 55 คน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการสูดดมแก๊สน้ำตา และยังมีการรายงานว่าผู้ชุมนุมหกคนได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง ในบรรดาผู้บาดเจ็บมีเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมรวมอยู่ด้วย
แม้ว่าผู้ชุมนุมฝ่ายประชาธิปไตยบางส่วนได้ใช้ความรุนแรงเพื่อตอบโต้ผู้ชุมนุมฝ่ายรักสถาบันฯ แต่เราขอย้ำว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ทำการชุมนุมโดยสงบ นอกจากนั้น เราขอย้ำว่าแม้ผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงจะสามารถถูกตอบโต้ได้โดยมาตรการตามกฎหมาย เฉพาะเท่าที่มีความจำเป็นและได้สัดส่วน แต่พวกเขายังคงต้องได้รับการคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชนอื่นซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับความมั่นคงปลอดภัยของบุคคล และสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและประติบัติหรือการลงโทษอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ทำการภาคยานุวัติในปี พ.ศ. 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) และการชุมนุมโดยสงบ (มาตรา 21) แต่ทางการไทยมักปิดกั้นการแสดงออกและจำกัดการชุมนุม ประชุม หรือเสวนาสาธารณะเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปทางการเมือง และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตีความและบังคับใช้ ICCPR กำหนดอย่างชัดเจนในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ซึ่งระบุเนื้อหาเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทยในการประกันสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ การใช้ความรุนแรงของบุคคลเพียงบางส่วนไม่อาจถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่น ของผู้จัด หรือของการชุมนุมดังกล่าวได้ และแม้ว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดได้ในบางกรณี แต่รัฐมีหน้าที่ในการให้เหตุผลสนับสนุนการจำกัดสิทธิเช่นว่า ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย หลักความชอบธรรม หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน

คณะกรรมการย้ำว่า “การชุมนุมทางการเมืองควรได้รับการปฏิบัติที่อะลุ่มอล่วย และได้รับการคุ้มครองมากกว่าปรกติ” คณะกรรมการยังย้ำถึงความรับผิดชอบของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการดูแลความปลอดภัยของสถานที่ชุมนุม และคุ้มครองผู้ชุมนุม “ให้ปลอดพ้นจากการปฏิบัติโดยมิชอบใด ๆ ที่ไม่ได้กระทำโดยหน่วยงานรัฐ เช่นการแทรกแซงหรือการใช้ความรุนแรงโดยประชาชนทั่วไป ผู้เข้าร่วมในการชุมนุมต่อต้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเอกชน” คณะกรรมการย้ำว่ารัฐบาลควรอนุญาตให้การชุมนุมเกิดขึ้นในระยะการ “มองเห็นและได้ยิน” ของกลุ่มเป้าหมายของการชุมนุม หรือของสถานที่ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

คณะกรรมการยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลการชุมนุม “ต้องเคารพและประกันให้ผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมสามารถใช้สิทธิพื้นฐานได้” เจ้าหน้าที่ควรใช้มาตรการพื้นฐาน เพื่อดูแลและสนับสนุนการชุมนุมโดยสงบ ตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้มาตรา 6 ซึ่งได้รับการตีความโดยคณะกรรมการตามที่ได้ระบุไว้ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 36 ตามหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังได้เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งและเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายในการควบคุมฝูงชนที่มีความชอบธรรม

ในความเห็นทั่วไปที่ 37 คณะกรรมการยังมีข้อสังเกตต่อไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไม่เลือกเป้าหมายของอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำแต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น แก๊สน้ำตาและรถฉีดน้ำแรงดันสูง ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการจึงระบุว่า “กรณีที่ต้องมีการใช้อาวุธเช่นนั้น ควรมีการดำเนินงานโดยชอบด้วยเหตุผลทั้งปวงเพื่อจำกัดความเสี่ยง เช่น โอกาสที่จะเกิดการวิ่งหนีจนเหยียบกัน หรืออันตรายต่อผู้คนรอบข้าง” ตามแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติปีพ.ศ. 2563 ว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำเพื่อบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ระบุต่อไปว่า “รถฉีดน้ำแรงดันสูงควรนำมาใช้เฉพาะเมื่อเกิดความไม่สงบต่อสาธารณะอย่างร้ายแรง กรณีที่มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง” นอกจากนั้น ควรใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเฉพาะหลังจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้ส่งสัญญาณเตือนและได้พยายาม “ระบุตัวตนและแยกบุคคลที่ใช้ความรุนแรงออกจากกลุ่มผู้ชุมนุมหลัก” อีกทั้งเจ้าหน้าที่ “ไม่ควรเล็งที่ฉีดน้ำแรงดันสูงไปที่เป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระยะใกล้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการตาบอดอย่างถาวร หรืออาการบาดเจ็บกรณีที่บุคคลถูกกระแสน้ำดันอย่างรุนแรง” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ แก๊สน้ำตาควรถูกใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันอันตรายทางกายภาพ และไม่ควรใช้เพื่อสลายการชุมนุมที่ปราศจากความรุนแรง

เนื่องจากมีเด็กเข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ด้วย เราขอกล่าวถึงความเห็นของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติซึ่งได้เน้นย้ำความเห็นต่อร่างความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ว่ารัฐ “มีหน้าที่เชิงบวกในการปกป้องสิทธิเด็กและจะต้องดำเนินการโดยตระหนักว่าอาจมีเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและปกป้องพวกเขาจากอันตรายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงอันตรายที่เกิดจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอื่น ๆ”

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน โฆษกของนายอันโตนิอู กุแตเรช (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ “แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ [สิทธิมนุษยชน] ในประเทศไทย ... เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่เห็นการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำซึ่งรวมถึงการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงต่อผู้ชุมนุมโดยสงบอย่างต่อเนื่อง ... เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และประกันให้มีการคุ้มครองทุกคนซึ่งใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทยอย่างเต็มที่”

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพ คุ้มครอง และสนับสนุนการใช้สิทธิในการทำการชุมนุมโดยสงบ ตามพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทยภายใต้ ICCPR และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยควร

1. อนุญาตให้คณะราษฎรเดินขบวนในวันที่ 25 พฤศจิกายน และอนุญาตให้ผู้ชุมนุมที่ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก สามารถชุมนุมโดยสงบที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสำนักงานใหญ่

2. คุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก โดยสอดคล้องตามความเห็นทั่วไปที่ 37 ว่าด้วยสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

3. สนับสนุนการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบ และหลีกเลี่ยงจากการสลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธ รวมทั้งการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำต่อผู้ชุมนุม โดยต้องปฏิบัติให้สอดคล้องตามหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำทั้งขององค์การสหประชาชาติและอื่น ๆ

4. คุ้มครองผู้ชุมนุม รวมถึงผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก จากความรุนแรงและการแทรกแซงของบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกับคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมต่อต้าน

5. ดำเนินการเพื่อประกันให้มีความรับผิดเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิ จากการทำหน้าที่ของรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุม และประกันว่าผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิสามารถเข้าถึงสิทธิในการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพได้ ตามที่ได้รับการประกันไว้ในมาตรา 2(3) ของ ICCPR

ร่วมลงนามโดย

Amnesty International
Article 19
ASEAN Parliamentarians for Human Rights
Asia Democracy Network
Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
Asian Network for Free Elections (ANFREL)
CIVICUS : World Alliance for Citizen Participation
Civil Rights Defenders
FIDH - International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
International Commission of Jurists
Manushya Foundation

Lire la suite