การปฏิเสธภาคประชาสังคมและก้าวถอยหลังของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

14/01/2019
Communiqué
en th

(กรุงปารีส) สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลระบุว่า การลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากภาคประชาสังคมทั้ง ๕ คน ถือเป็นความล้มเหลวอย่างร้ายแรงที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบัน

เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ลงมติเป็นการลับในการรับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยการรับรองผู้ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อให้พิจารณาเพียง ๒ คน ได้แก่ นางสาว ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ นางสาว พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แต่ไม่รับรอง ๕ คน

"การไม่รับรองบุคคลทั้ง ๕ ซึ่งมาจากภาคประชาสังคม และการรับรองบุคคลเพียง ๒ คนผู้เคยดำรงตำแหน่งข้าราชการ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีส่วนในการสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ การลงมติดังกล่าวลดทอนความหวังในการกลับคืนสู่สถานภาพสูงสุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทย หลังจากถูกลดสถานะมาแล้ว ๓ ปี"

นายเดบบี้ สโตทาร์ด เลขาธิการสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล

บุคคลซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วย ๑. นางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (มติ ๑๔ ต่อ ๑๔๑) ๒. นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (มติ ๑๐ ต่อ ๑๔๕) ๓. นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มติ ๑๒ ต่อ ๑๔๑) ๔. นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มติ ๑๓ ต่อ ๑๓๙) ๕. นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกิจกรรมทางสังคมในประเด็นชนกลุ่มน้อยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ (มติ ๑๕ ต่อ ๑๓๕) สำหรับ ๔ บุคคลแรกที่กล่าวถึงในข้างต้น มาจากสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ดีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๔ ระบุไว้ว่าผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบ จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้

เมื่อบุคคลทั้ง ๗ ได้รับการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา ๑๑ คน นำโดยประธานศาลฏีกา จากผู้สมัครทั้งหมด ๒๙ คน จากนั้นเป็นขั้นตอนของคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติในการดำเนินการตรวจสอบประวัติของผู้ผ่านการสรรหาทั้ง ๗ คน และส่งรายงานการตรวจสอบประวัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติภายใน ๖๐ วัน ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติอ้างว่าไม่สามารถทำรายงานการตรวจสอบประวัติให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงมีการขอเลื่อนกำหนดการออกไป ๓๐ วัน ถึง ๒ ครั้ง จนกระทั่งวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติได้เสนอรายงานให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยรายงานส่วนที่ ๒ ถูกจัดทำเป็นรายงานลับเพื่อนำเสนอในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณา ทางสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเปิดเผยรายงานการประชุมลับเพื่อความโปร่งใสของกระบวนการการลงมติรับรอง

"ถึงแม้จะมีการแทรกแซงอย่างเกินควรโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ส่งผลให้กระบวนการการลงมติรับรองมีความบกพร่อง แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้ได้รับการสรรหาทั้ง ๕ คนที่มาจากภาคประชาสังคมได้รับการตรวจสอบประวัติอย่างเหมาะสม และมีคุณสมบัติอย่างครบถ้วนในการดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทั้งนี้กฏหมายภายในประเทศและหลักมาตรฐานสากลต่างๆควรเป็นหลักเกณฑ์ในการรับรองผู้ผ่านการสรรหา ไม่ใช่เหตุผลทางการเมือง"

นายเดบบี้ สโตทาร์ด เลขาธิการสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๖ บัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาต้องกำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย”

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๘ ระบุคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ว่า “มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน” “มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา” “มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฏหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ”

หลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หรือ หลักการปารีส ระบุว่าสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมการจะต้องจัดตั้งขึ้นภายใต้หลักการที่ประกันความหลากหลายในการเป็นตัวแทนภาคส่วนต่างๆของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ อนุกรรมการประเมินสถานะของคณะกรรมการพันธมิตรสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ GANHRI ลดสถานะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากสถานะ A สู่ สถานะ B เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการรวมไปถึงประเด็นเรื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

ข้อมูลติดต่อฝ่ายสื่อ
นางสาว ออเดร คูปรี (ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส), +๓๓๖๔๘๗๕๙๑๕๗ (ปารีส)
Lire la suite