สหประชาชาติตำหนิสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในเรือนจำ

01/08/2017
Communiqué
en th

(กรุงเทพฯ, กรุงปารีส) รัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมในการนำข้อเสนอแนะของหน่วยงานของสหประชาชาติไปปฏิบัติตามเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในเรือนจำ สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกในประเทศไทย กล่าวในวันนี้

ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 คณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบแห่งสหประชาชาติ (CEDAW) ได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ของประเทศไทย ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายของประเทศไทยฉบับที่ 6 และ 7 ร่วมกัน ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมการฯทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายของประเทศสมาชิกภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

“ข้อสรุปคณะกรรมการ CEDAW เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไทยนั้นยังคงต่ำกว่ามาตรฐานสากลในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้หญิง เป็นเรื่องน่าขันที่มาตรฐานเหล่านี้ถูกตั้งชื่อตามเมืองหลวงของประเทศไทยและน่าเสียดายที่ประเทศไทยล้มเหลวในการนำมาตรฐานเหล่านี้ไปปฏิบัติตามอย่างเต็มที่”

ดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธานFIDH

ในข้อสังเกตโดยสรุปนั้น คณะกรรมการฯได้แสดงความกังวลต่อข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราผู้ต้องขังหญิงมากที่สุดในโลก คณะกรรมการฯยังได้แสดงความกังวลที่ผู้หญิงมักจะถูกจำคุกในเรือนจำที่อยู่ไกลจากครอบครัวและมีสภาพนักโทษล้นคุกที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ต้องขังหญิงที่มีบุตร

คณะกรรมการ CEDAW เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงในสถานที่กักขังต่างๆให้เป็นไปตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา) คณะกรรมการฯยังได้เสนอแนะให้ประเทศไทยยับยั้งการใช้มาตรการตรวจค้นร่างการที่เป็นการล่วงล้ำผู้หญิงโดยเจ้าหน้าที่เรือนจำอีกด้วย

“ความล้มเหลวของรัฐบาลไทยทุกชุดต่อกันมาในการจัดการปัญหาสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำทำให้ผู้หญิงตกอยู่ในสภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดนี้จะต้องใช้มาตรการอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหาสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ โดยเริ่มจากปัญหาเรื้อรังเรื่องนักโทษล้นคุกก่อน”

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสสส.

ความกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯหลายประเด็นสะท้อนสิ่งที่ FIDH และ สสส. เรียกร้องในรายงานคู่ขนานร่วมกันซึ่งส่งไปก่อนหน้ากระบวนการพิจารณาการปฏิบัติตามอนุสัญญาของประเทศไทย รายงานฉบับนี้บันทึกว่าผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมจากสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำที่ย่ำแย่อย่างไรบ้าง ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CEDAW ยังสอดคล้องกับสิ่งที่กฎอยู่ในรายงานร่วมกันของ FIDH และ สสส. เรื่อง “หลังกำแพง – ส่องสภาพเรือนจำในประเทศไทยหลังรัฐประหาร” ซึ่งบันทึกว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำไทยที่ถูกตรวจสอบโดย FIDH และ สสส. ได้ละเมิดพันธกรณีภายใต้กลไกระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ปี 2548 ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในเรือนจำในประเทศไทยได้ถูกเน้นย้ำโดยกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (CCPR) คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (CAT) และคณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (CESCR) คณะกรรมการดั่งกล่าวล้วนได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องต่อปัญหานักโทษล้นคุกรุนแรงและสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เป็นไปตามมตรฐานสากล

Lire la suite