ปฏิบัติตามพันธกิจที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย - ยุติการควบคุมตัวและการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย

06/07/2017
Déclaration
en th

(กรุงเทพฯ) ในโอกาสที่นายฟิลิปโป กรานดี (Filippo Grandi) ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees ) หรือ UNHCR จะมาเยือนประเทศไทย พวกเราซึ่งเป็นหน่วยงานที่ลงชื่อด้านล่าง ขอเรียกร้องรัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกิจของตนที่จะปกป้องผู้ลี้ภัย ด้วยการยุติการปฏิบัติมิชอบ และกำหนดให้มีหน่วยงานและให้บังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย โดยสิทธิเหล่านั้นควรจะได้รับการคุ้มครอง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ, ศาสนา, สัญชาติ หรือ ชาติกำเนิด หรือการเป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมหรือความคิดเห็นทางการเมือง

ในวันที่ 7 กรกฎาคม หัวหน้าของหน่วยงานสหประชาชาติซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครอง และหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับผู้ลี้ภัย มีกำหนดเข้าพบนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาของไทยเพื่อพูดคุยถึงโครงสร้างการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่ข้าหลวงใหญ่จะมาเยือนประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของการมาเยือนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของท่าน

จากข้อมูลของ UNHCR ประเทศไทยรองรับผู้ลี้ภัยประมาณ 102,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวตามพรมแดนไทย-เมียนมามาเป็นเวลานาน ในจำนวนนี้มี “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” อีก 8,000 คนซึ่งมาจากปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย จีน และประเทศอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

แม้ว่าไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 (the 1951 Refugee Convention) หรือ พิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 (the 1967 Protocol) แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้แสดงพันธกิจอย่างต่อเนื่องที่จะคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย รวมทั้งล่าสุดในระหว่างการทบทวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรณีพันธกิจของไทยที่มีต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เมื่อเดือนมีนาคม โดยในระหว่างกระบวนการทบทวนดังกล่าว รัฐบาลไทยได้เน้นย้ำพันธกิจที่มีต่อ “หลักมนุษยธรรมและการดูแลผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกลุ่มต่าง ๆ” ในการแถลงต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ที่กรุงนิวยอร์ก นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการกักขังผู้ลี้ภัยที่เป็นเยาวชนในประเทศไทย และจะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยที่มีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรียังได้ประกันว่าการเดินทางกลับสู่เมียนมาของผู้ลี้ภัยจะเป็นไปโดยสมัครใจ และจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้นในไทย

พันธกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและน่าชื่นชม อย่างไรก็ดี เรายังคงกังวลเนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามพันธกิจดังกล่าว และยังไม่มีการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยดังต่อไปนี้

การส่งกลับ

ที่ผ่านมาประเทศไทยล้มเหลวที่จะเคารพต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และถูกบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในข้อบทที่ 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และยังเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ โดยห้ามไม่ให้รัฐส่งกลับบุคคลไปยังประเทศซึ่งพวกเขาอาจจะเผชิญกับการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่โหดร้าย

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการไทยได้บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และบุคคลอื่น ๆ ตามการร้องขอของรัฐบาลต่างชาติต่าง ๆ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เชื่อถือได้ว่าบุคคลเหล่านี้อาจต้องประสบการทรมานหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ไทยได้ส่งตัวนายเอ็ม ฟูรกาน เซิกเม็น (M. Furkan Sökmen) สัญชาติตุรกี ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับผู้นำศาสนาชาวตุรกี นายเฟตูเลาะห์ กิวเล็น (Fethullah Gülen) ไปให้ทางการตุรกี แม้ว่าจะมีคำเตือนจากหน่วยงานแห่งสหประชาชาติต่าง ๆ แล้วว่า นายฟูรกานอาจถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หากถูกส่งตัวกลับไป

ตุรกี และในปี 2558 ยังมีรายงานว่าไทยได้ส่งตัวผู้ที่น่าสงสัยว่าจะเป็นชาวอุยกูร์ เชื้อชาติเตอร์กิก จำนวนประมาณ 100 คน โดยส่วนใหญ่เป็นมุสลิมกลุ่มน้อยในจีน กลับไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ชาวอุยกูร์ที่กลับสู่จีนต้องประสบกับการประหัตประหาร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทางการไทยใช้วิธีส่งกลับอย่างไม่เป็นทางการ โดยการนำตัวบุคคลเหล่านี้ไปยังพรมแดน และบังคับให้พวกเขาเดินทางเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่มีการใส่ใจอย่างเหมาะสมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อบุคคลเหล่านี้ ประเทศไทยยังดำเนินนโยบาย “อำนวย” หรือ “ผลักดัน” ผู้ลี้ภัยที่พยายามเข้าเมืองทางทะเล ตามนโยบายดังกล่าว ทางการไทยได้สกัดและลากจูงเรือที่มีสภาพเลวร้ายของผู้อพยพออกไปสู่ทะเล นโยบายและการปฏิบัติเช่นนี้เป็นการละเมิด หลักการไม่ส่งกลับ และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยอย่างรุนแรง แต่จนถึงขณะที่เขียนแถลงการณ์นี้ ยังคงมีนโยบายและการปฏิบัติเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปในประเทศไทย

ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงพันธกรณีของไทยที่จะต้อง “กำหนดหลักประกันทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติเพื่อที่จะไม่ส่งตัวบุคคลที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ กลับไปยังประเทศซึ่งมีเหตุผลอย่างหนักแน่นที่เชื่อได้ว่ามีความเสี่ยงอย่างจริงจังที่เขาจะได้รับอันตรายที่สร้างความเสียหายอย่างไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้...” ในระหว่างการทบทวนพันธกรณีของไทยตามกติกา ICCPR คณะกรรมการได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับ “รายงานว่ามีการส่งกลับและการบังคับส่งกลับ โดยไม่มีการตรวจสอบหรือไม่มีการประเมินผลอย่างเพียงพอ...” ซึ่งเรามีความกังวลเหล่านี้เช่นกัน

การควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด

ทางการไทยยังคงควบคุมตัวผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้เข้าเมืองอื่น ๆ ที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าวและสถานที่อื่นซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐโดยพลการ และในบางกรณีเป็นการควบคุมตัวอย่างไม่มีเวลากำหนด แม้ว่าสถานกักตัวคนต่างด้าวของไทยจะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการพักพิงเพียงไม่เกิน 15 วัน แต่ปรากฏว่าผู้ลี้ภัยบางส่วนได้ถูกควบคุมตัวที่นี่มาเป็นเวลาหลายปี ในระหว่างการทบทวนพันธกรณีของไทยตามกติกา ICCPR คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับรายงานว่ามีการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยเป็นเวลานาน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “งดเว้นจากการควบคุมตัวผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้เข้าเมือง และให้ใช้มาตรการอื่นนอกเหนือจากการควบคุมตัว...” รัฐบาลไทยยืนยันในระหว่างการทบทวนดังกล่าวว่า ชาวโรฮิงญา 121 คนจากรัฐยะไข่และบังคลาเทศ ยังคงถูกควบคุมตัวในที่พักพิงซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ โดยที่สิทธิการเดินทางและอิสรภาพของพวกเขาถูกปฏิเสธ

นอกจากข้อกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยเป็นเวลานานแล้ว เรายังคงกังวลกับสภาพของศูนย์กักตัวคนต่างด้าวของไทยที่ต่ำกว่ามาตรฐาน สถานที่กักตัวในไทยมีลักษณะที่แออัดยัดเยียดอย่างมาก มีสภาพสุขอนามัยที่ย่ำแย่ และการเข้าถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานเป็นไปอย่างจำกัด รวมทั้ง น้ำสะอาดสำหรับซักล้างและดื่มกิน อาหารที่เพียงพอและมีคุณภาพ ห้องน้ำที่เพียงพอ ทางการยังได้ควบคุมตัวเด็กเพียงเพราะสถานะการเข้าเมืองของพวกเขาหรือของพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก มีรายงานว่าการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลและบริการด้านสุขภาพจิตในศูนย์กักตัวนี้เป็นไปอย่างจำกัด ซึ่งอาจทำให้เกิดหรือทำให้อาการเจ็บป่วยที่ป้องกันได้แย่ลง รวมถึงการติดเชื้อทางผิวหนังและทางเดินหายใจ และ

โรควัณโรค ในเดือนพฤษภาคม ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวปากีสถานอายุ 36 ปีคนหนึ่งเสียชีวิตที่ศูนย์กักตัวคนต่างด้าวที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดความตระหนักถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ดังกล่าว

การเข้าถึงสถานะทางกฎหมาย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกรอบกฎหมายเพื่อประเมินคำร้องขอลี้ภัย และล้มเหลวที่จะให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยในประเทศ เป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้นต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ รวมทั้งการควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด การส่งกลับ และการค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติที่ 10/01 พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย” เพื่อทำหน้าที่พัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองและบริหารผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย ซึ่งนับเป็นมาตรการในเชิงบวกเพื่อประกันสิทธิการขอที่ลี้ภัย ซึ่งมีการคุ้มครองไว้ตามข้อ 14 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มติคณะรัฐมนตรีนี้กำหนดกรอบที่จะจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อคัดกรอง และบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย แต่หากกลไกการคัดกรองดังกล่าว มีการเลือกปฏิบัติหรือมีหลักเกณฑ์กำหนดที่เข้มงวดอาจทำให้สถานการณ์การให้ความคุ้มครองผู้ขอลี้ภัยแย่ลงแทนที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับ UNHCR ภาคประชาสังคม และผู้ลี้ภัยในการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติเพื่อประเมินคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยและการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างเป็นธรรม

การไม่สามารถเข้าถึงการประกอบอาชีพและการคุ้มครองด้านแรงงาน

กฎหมายแรงงานของไทยห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยต้องเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมักเป็นงานที่อันตราย ยากลำบาก และไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งผู้ลี้ภัยไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานอื่น ๆ ของไทย ในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ลี้ภัยต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และอันตรายจากสภาพแวดล้อมของการทำงาน เหล่านี้เป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights - ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี ข้อบทที่ 7 ของกติการะบุว่า ประเทศภาคีมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่เป็นธรรมและน่าพึงพอใจ

การเข้าถึงการศึกษา

กฎหมายของไทยกำหนดหลักประกันว่า เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึง “การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยรัฐต้องจัดให้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 ปี” โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางกฎหมายของเด็ก อย่างไรก็ดี เด็กซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายที่พักพิงตามพรมแดนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยได้ เนื่องจากการจำกัดสิทธิด้านการเดินทาง อุปสรรคด้านภาษา และการเลือกปฏิบัติของผู้บริหารโรงเรียน การเข้าถึงสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษายิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น เด็กซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยซึ่งถูกควบคุมตัวในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว ก็จะถูกควบคุมตัวโดยไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนของไทยได้

จากข้อกังวลที่กล่าวถึงข้างต้น เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้

• ป้องกันไม่ให้มีการส่งกลับบุคคล ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตหรืออิสรภาพ หากต้องกลับไปที่บ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาควรสั่งการให้กระทรวงและหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องยุตินโยบาย “การอำนวย” และยุติ “การส่งกลับในทางอ้อม” ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ลี้ภัยเสี่ยงจะถูกส่งกลับ
• ยุติการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการและอย่างไม่มีเวลากำหนดในศูนย์กักตัวคนต่างด้าว และสถานกักตัวที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ประกันว่าการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยให้ทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นข้อยกเว้นเท่านั้น ภายหลังมีการประเมินในระดับบุคคลแล้ว และหลังจากมีการพิจารณาใช้มาตรการที่เป็นการล่วงละเมิดที่น้อยกว่าการควบคุมตัวจนหมดสิ้นแล้ว และให้ปฏิบัติการในลักษณะที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
• ร่วมมือกับ UNHCR ภาคประชาสังคม และผู้ลี้ภัย ในการปรึกษาหารืออย่างมีนัยยะ และประกันการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการวางแผน หรือการดำเนินการตามโครงการเดินทางกลับโดยสมัครใจบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา
• ร่วมมือกับ UNHCR ภาคประชาสังคม และผู้ลี้ภัยในการจัดทำขั้นตอนปฏิบัติเพื่อประเมินคำร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยและการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างเป็นธรรม โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ประกันว่าบุคคลที่แสวงหาที่ลี้ภัยทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงขั้นตอนการขอที่ลี้ภัย โดยไม่คำนึงว่าจะเข้าเมืองมาในลักษณะใด เข้ามาที่จุดใด หรือเข้ามาเมื่อใด
• ประกันว่าบุคคลซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทุกคนในประเทศไทย จะสามารถเข้าถึงเอกสารทางกฎหมาย บริการรักษาพยาบาล ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ได้รับโอกาสทางการศึกษา และความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ
ให้ภาคยานุวัติต่ออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 และพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 รวมทั้งสนธิสัญญาที่สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ และเพิกถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

Lire la suite

  • Co-signataires
    แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)
    เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Refugee Rights Network)
    องค์กรอไซลัมแอคเซส ประเทศไทย (Asylum Access Thailand)
    เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons)
    องค์กรเซ็นเตอร์ ฟอร์ อไซลัม โพรเทคชั่น (Center for Asylum Protection)
    สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH - International Federation for Human Rights)
    องค์กรโฟร์ติไฟย์ไรท์ (Fortify Rights)
    ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch)
    เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network)
    เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrant Working Group)
    มูลนิธิศักยภาพชุมชน (People Empowerment Foundation)
    องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children)
    กลุ่มอุมมาตี (Ummatee)

Agir