ตัวเลขการจับกุมการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ภายหลังการรัฐประหารพุ่งทะลุ 100

08/05/2017
Communiqué
en th

(กรุงเทพ, กรุงปารีส) ตัวเลขจำนวนผู้ถูกจับกุมในความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์นับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม ปี 2557 พุ่งทะลุ 100 คนแล้ว สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรสมาชิก ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าววันนี้

“ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี รัฐบาลทหารได้ทำให้ตัวเลขจำนวนนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังจากความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์พุ่งสูงขึ้นโดยการบังคับใช้บทกฎหมายอันโหดร้าย ซึ่งขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย”

นายดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธาน FIDH

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย (ความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์) กำหนดโทษจำคุกแก่บุคคลที่ทำการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำการละเมิดมาตรา 112 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปีสำหรับความผิดแต่ละกรรม

ตัวเลขบุคคลซึ่งถูกจับกุมภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มขึ้นเป็น 105 คนภายหลังการจับกุมบุคคลจำนวน 6 คนในวันที่ 29 เมษายน 2560 ในจำนวนนั้น มีผู้ที่ได้รับโทษจำคุกซึ่งเป็นเวลาสูงสุดถึง 30 ปีทั้งหมด 49 คน และจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่กำลังถูกจำคุกหรือถูกคุมขังเพื่อรอการดำเนินคดีการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างน้อย 64 คน ขณะที่มีการก่อรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีบุคคลที่ถูกจำคุกภายใต้มาตรา 112 จำนวน 6 คน ทั้งหมด 81 คดีจาก 105 คดีเป็นการพรากไปซึ่งอิสรภาพของบุคคลจากใช้สิทธิในเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก ส่วนที่เหลือเป็นคดีซึ่งบุคคลถูกจับกุมจากการอ้างความสัมพันธ์กับราชวงศ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

“หลายคนที่ถูกจับกุมเป็นนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและผู้ที่วิจารณ์การปกครองของทหารอย่างเปิดเผย ในบางกรณี มีบุคคลที่ถูกลักพาตัวไปจากบ้านของพวกเขาโดยเจ้าหน้าที่ทหารและถูกไต่สวนเป็นการลับอยู่ในค่ายทหารเป็นเวลาหลายวันก่อนที่จะได้รับการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ น้อยครั้งมากที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์จะได้รับการประกันตัวและทำให้ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการสู้คดีในระหว่างที่ถูกคุมขัง ทั้งหมดนี้เป็นการเย้ยหยัน ‘ความยุติธรรม’ ในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย”

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

ในวันที่ 28 มีนาคม 2560 ภายหลังจากการพิจารณาการปฏิบัติตามพันธกรณีครั้งที่สองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (CCPR) ได้แสดงความกังวลต่อ “การใช้การลงโทษอย่างรุนแรง” แก่ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ คณะกรรมการ CCPR เสนอแนะให้ประเทศไทยพิจารณาทบทวนบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ ICCPR และกล่าวย้ำว่าการกำหนดโทษจำคุกแก่ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของตนนั้นถือเป็นการละเมิดบทบัญญัตินี้ คณะกรรมการ CCPR ยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกพรากไปซึ่งอิสรภาพจากการใช้สิทธิในเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก

“รัฐบาลไทยหมดข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์แล้ว มาตรา 112 จะต้องถูกทำให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งถูกเรียกร้องโดยกลไกต่างๆของสหประชาชาติหลายกลไล”

นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสสส
Lire la suite