สหประชาชาติวิจารณ์การละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่มีอย่างต่อเนื่อง

04/04/2017
Communiqué
en th

(กรุงเทพฯ, นครเจนีวา, กรุงปารีส) รัฐบาลทหารของประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างทันทีในการนำข้อเสนอแนะของหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติไปปฏิบัติตาม สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และองค์กรสมาชิก ได้แก่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าววันนี้

“ในการพิจารณาประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยครั้งล่าสุดนี้ คณะผู้แทนของรัฐบาลไทยอ้างว่ากองทัพได้นำ ‘อากาศอันบริสุทธิ์’ มาสู่ประเทศไทย แต่แท้จริงแล้ว ข้อสรุปของหน่วยงานของสหประชาชาติได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารนั้นกำลังบีบคอสิทธิมนุษยชนอยู่”

นายดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธาน FIDH

ในวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (CCPR) ได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป (Concluding Observations) ของประเทศไทย ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีครั้งที่สองในวันที่ 13-14 มีนาคม 2560 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คณะกรรมการCCPR ทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีทางกฎหมายภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR)ของประเทศสมาชิก โดยในข้อสังเกตโดยสรุปฉบับล่าสุดนั้น คณะกรรมการCCPR ได้แสดงความกังวลและออกข้อเสนอแนะซึ่งครอบคลุมหลายประเด็นเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

“ผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติที่เป็นกลางและตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับวาทกรรมที่ไม่จริงใจของรัฐบาลว่าด้วยประชาธิปไตยและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การยกเลิกคำสั่งและนโยบายที่รุนแรงของรัฐบาลทหารเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง”

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw

ความกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CCPR หลายประเด็นสะท้อนสิ่งที่ปรากฏอยู่ในรายงานร่วมกันของ FIDH สสส. และiLaw เรื่อง “ภายใต้การโจมตี : การละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารของประเทศไทย” รายงานฉบับนี้ซึ่งออกมาก่อนหน้ากระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ CCPR ได้ชี้ให้เห็นว่าการปกครองของรัฐบาลทหารนั้นส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2556

“ข้อกังวลของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในหลายๆด้านไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยนับตั้งแต่การพิจารณาครั้งก่อนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องหยุดเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะของสหประชาชาติและคำนึงถึงกระบวนการพิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง”

นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน สสส.

ภายในหนึ่งปีหลังการออกข้อสังเกตโดยสรุปนั้น ประเทศไทยจะต้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CCPR ไปปฏิบัติตามในประเด็นต่างๆว่าด้วย 1) รัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศ 2) การวิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้บุคคลสูญหายและการทรมาน และ 3) สภาพของสถานที่กังขัง

ข้อน่ากังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ CCPR ในบางประเด็นโดยสรุปมีดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญชั่วคราว, คำสั่งคสช.และการงดเว้นการปฏิบัติตาม ICCPR
คณะกรรมการ CCPR พบว่ามาตรา 44, 47 และ 48 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของประเทศไทยจำกัดการเข้าถึงกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและ ‘อาจนำไปสู่ได้รับความคุ้มกันทางกฎหมาย’ จากการกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารผู้มีอำนาจ คณะกรรมการ CCPR ยังได้กล่าวด้วยว่ามาตรา 44 ถูกนำไปใช้เพื่อออกคำสั่งที่จำกัดสิทธิต่างๆภายใต้กติการะหว่างประเทศฉบับนี้หลายครั้ง คณะกรรมการ CCPR จึงเรียกร้องให้มีการพิจารณามาตรการต่างๆที่ออกภายใต้มาตรา 44, 47 และ 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งหมดใหม่

นอกจากนั้น คณะกรรมการ CCPR ยังแสดงความผิดหวังต่อการงดเว้นการปฏิบัติตามมาตรา 12(1), 14(5) และ 21 ของICCPR อันเป็นผลจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกของรัฐบาลไทยในเดือนพฤษภาคมปี 2556 ซึ่งไม่เป็นไปตามกรอบหลักการและขอบเขตที่กำหนดอยู่ในมาตรา 4 ของ ICCPR และความเห็นทั่วไปฉบับที่ 29 (General Comment No.29)

โทษประหารชีวิต
คณะกรรมการ CCPR กล่าวว่ากฎหมายไทยซึ่งกำหนดโทษประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น การติดสินบนและยาเสพติดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 6(2) ของ ICCPR ซึ่งกำหนดให้สำหรับประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตจะสามารถตัดสินโทษประหารชีวิตแก่ “ความผิดอาญาร้ายแรงที่สุด” เท่านั้น คณะกรรมการยังได้แสดงความกังวลต่อจำนวนคดี ที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต คณะกรรมการ CCPR เสนอแนะให้ประเทศไทยประกันว่าโทษประหารชีวิตจะถูกจำกัดเพื่อใช้กับ “ความผิดอาญาร้ายแรงที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” เท่านั้น คณะกรรมการยังได้เรียกร้องให้ประเทศไทยพิจารณาการยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตโดยสิ้นเชิงและลงนามในพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของ ICCPR (Optional Protocol to the ICCPR) ซึ่งมุ่งการกำจัดโทษประหารชีวิตโดยสิ้นเชิง

การทรมาน การวิสามัญฆาตกรรมและการบังคับให้บุคคลสูญหาย
คณะกรรมการ CCPR กล่าวว่าประเด็นที่ “น่ากังวลอย่างยิ่ง” ได้แก่รายงานสถานการณ์การทรมานและปฏิบัติที่โหดร้าย การวิสามัญฆาตกรรมและการบังคับให้บุคคลสูญหายของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการยังกังวลต่อการได้รับการยกเว้นโทษของเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางในคดีดังกล่าวและรวมถึงกระบวนการสืบสวนคดีที่ล่าช้า คณะกรรมการ CCPR จึงเรียกร้องให้รัฐบาลประกันให้มีการสอบสวนที่เป็นกลางและถี่ถ้วนในคดีที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมาน การบังคับให้บุคคลสูญหายและวิสามัญฆาตกรรม โดยจะต้องมีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดและมีบทลงโทษที่เหมาะสม

การควบคุมตัวโดยพลการ
คณะกรรมการ CCPR แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยคนโดยพลการเพื่อ “ปรับทัศนคติ” จากเพียงการที่บุคคลใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและ/หรือการแสดงออกภายหลังการรัฐประหารปี 2556 บุคคลเหล่านั้นถูกควบคุมตัวโดยไม่ได้รับการแจ้งข้อหาและไม่สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้ให้อยู่ในสถานที่ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยเป็นระยะเวลาถึง 7 วัน โดยไม่มีการตรวจสอบทางกฎหมายหรือความคุ้มครองจากการปฏิบัติที่โหดร้ายและไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ คณะกรรมการ CCPR เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการโดยทันทีและให้เจ้าหน้าที่ “จัดให้มีการชดเชยค่าเสียหายอย่างเต็มที่”

สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
คณะกรรมการ CCPR แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับ 1) คดีความของพลเรือนหลายร้อยคดียังคงอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร 2) พลเรือนซึ่งถูกตัดสินโดยศาลทหารว่ากระทำความผิดไม่สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ ได้และ 3) หลักประกันต่างๆของสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่กำหนดอยู่ในมาตรา 14 ของ ICCPRไม่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหาร คณะกรรมการเรียกร้องให้มีการโอนการดำเนินคดีความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 กันยายนปี 2559 ไปยังศาลพลเรือนและให้เจ้าหน้าที่จัดการให้มีสิทธิในการอุทธรณ์ในศาลพลเรือนในคดีที่พลเรือนได้ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

สภาพของสถานที่กักขัง
คณะกรรมการ CCPR เน้นย้ำถึงความแออัดและสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายในสถานที่กักขังหลายแห่ง เช่นสภาพสุขอนามัยและสุขลักษณะที่เลวร้าย, การขาดการเข้าถึงบริการสุขภาพและการขาดอาหารและน้ำที่เพียงพอ คณะกรรมการยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานว่าด้วยการใช้เครื่องพันธนาการเช่นโซ่ตรวน และการล่วงละเมิดทางเพศ คณะกรรมการ CCPR เรียกร้องให้รัฐบาลประกันว่าสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง (ข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา) (UN standard minimum rules for the treatment of prisoners ; the Nelson Mandela rules)

เสรีภาพในการแสดงออกและกฎหมายหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ (lèse-majesté)

คณะกรรมการ CCPR เน้นยำถึงการจำกัดสิทธิในการมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกที่ร้ายแรงและโดยพลการซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายไทยหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2551 และคำสั่งคสช.ที่ 3/2557 คณะกรรมการแสดงความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางอาญา โดยเฉพาะการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าวและบุคคลอื่นๆ และเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การปราบปรามการถกเถียงและการรณรงค์ รวมถึงการดำเนินคดีทางอาญาบุคคลทั่วไปในช่วงก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญในปี 2559

คณะกรรมการเสนอแนะให้ประเทศไทยใช้มาตรการที่จำเป็นต่างๆเพื่อประกันการมีสิทธิในเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออกในทุกรูปแบบ คณะกรรมการยังได้แนะนำให้ประเทศไทยยกเลิกโทษทางอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทและใช้กฎหมายอาญาในกรณีเป็นความผิดร้ายแรงเท่านั้น คณะกรรมการยังได้เสนอแนะต่อไปว่าประเทศไทยต้องไม่ใช้บทบัญญัติกฎหมายอาญา ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา (‘ยุยงปลุกปั่น’) ในการกดขี่การแสดงการวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความเห็นต่างใดๆ

ในประเด็นคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (lèse-majesté) ที่เพิ่มมากขึ้นนั้น คณะกรรมการ CCPR แสดงความกังวลต่อ “การลงโทษอย่างรุนแรง” แก่ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในข้อหาดังกล่าว คณะกรรมการ CCPR แนะนำให้ประเทศไทยพิจารณาทบทวนบทบัญญัติมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 19 ของ ICCPR และยังได้กล่าวย้ำอีกว่าการกำหนดโทษจำคุกแก่ผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นของตนนั้นถือเป็นการละเมิดบทบัญญัตินี้

สิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ

คณะกรรมการ CCPR วิจารณ์ “มาตรการจำกัดอย่างเกินเหตุ” ที่ใช้กับสิทธิในการมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติตั้งแต่การรัฐประหารปี 2556 ซึ่งรวมถึงการห้ามอย่าง “เด็ดขาด” ไม่ให้มีการรวมตัวในที่สาธารณะของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปและการรวมตัวทางการเมืองของบุคคลตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป คณะกรรมการ CCPR แสดงความกังวลเกี่ยวกับบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดความรับผิดทางอาญาแก่บุคคลที่ไม่ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการจัดการชุมนุมอย่างสันติ

Lire la suite