รายงานเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเรือนจำอย่างเร่งด่วน

28/02/2017
Communiqué
en fa th

ปารีส กรุงเทพฯ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ : ตามข้อมูลในรายงานร่วมของ FIDH และ สสส. ที่เผยแพร่ในวันนี้ การที่ประเทศไทยล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในแง่การปฎิรูปเรือนจำอย่างรอบด้าน ได้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในระบบราชทัณฑ์ รายงานนี้มีชื่อว่า “หลังกำแพง - ส่องสภาพเรือนจำไทยหลังรัฐประหาร” ข้อมูลที่ถูกบันทึกโดย FIDH และ สสส. ในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าสภาพในเรือนจำได้ละเมิดพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกลไกระหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีอย่างไร

“คำกล่าวอ้างของรัฐบาลไทยที่ว่าสภาพเรือนจำของประเทศได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องที่น่าชวนหัวเราะ การปฏิรูปเพื่อรับรองสภาพในเรือนจำที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดมาตรฐานสากลขั้นต่ำ และระบบทัณฑสถานที่มีการฟื้นฟูสภาพเป็นแกนหลัก จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างเร่งด่วน”

นายดิมิทริส คริสโตปุโลส ประธานสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล FIDH

ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา กลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN) ได้แสดงความกังวลต่อสภาพของเรือนจำในไทย เป็นที่น่าเสียใจ ที่รัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาไม่ดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้าตามข้อเสนอแนะของสหประชาชาติ และไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกิจของตนที่จะปรับปรุงสภาพในเรือนจำได้

สถานการณ์ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นภายหลังรัฐประหารวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การเข้าถึงเรือนจำได้กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นกว่าเดิม นอกเหนือจากนี้ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังและครอบครัวของผู้ต้องขังในปัจจุบัน FIDH และ สสส. สามารถรายงานได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในเรือนจำได้บังคับใช้กฎระเบียบที่มีความเค้มงวด ซึ่งได้เป็นการจำกัดสิทธิผู้ต้องขังมากขึ้น รัฐบาลทหารยังได้เพิ่มการใช้สถานที่ในเขตทหารเพื่อกักขังพลเรือน เช่น เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 ทั้งนี้สถานที่กักขังดังกล่าวไม่สามารถรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆของผู้ถูกกักขัง

ความแออัดในเรือนจำไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญ และเนื่องจากประชากรเรือนจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชากรเรือนจำที่มากที่สุดและอัตราโทษที่สูงที่สุดในจำนวนของกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) สถิติอย่างเป็นทางการได้แสดงให้เห็นว่า 91% ของเรือนจำทั่วประเทศได้มีประชากรเรือนจำมากกว่าศักยภาพที่รองรับได้ถึงสองเท่า หรือมีอัตราการกักขัง (Occupancy Level) กว่า 224%

การไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาล การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม รวมทั้งการขาดสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเรือนจำที่เราศึกษาในรายงานนี้ เชื่อว่าสภาพดังกล่าวเกิดขึ้นคล้าย ๆ กันในเรือนจำแห่งอื่นทั่วประเทศไทย บริการดูแลทางการแพทย์และการเตรียมพร้อมสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่ขาดแคลน บ่อยครั้งที่ผู้ต้องขังต้องถูกใช้แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบ โดยอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้ายและมีค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ การลงโทษในเรือนจำขัดแย้งมาตรฐานสากล และในบางกรณีอาจถึงขั้นเป็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ จากปากคำของผู้ต้องขังทำให้เราทราบว่ายังคงมีการใช้เครื่องพันธนาการต่าง ๆ รวมทั้งตรวนมากเกินกว่าเหตุ สุดท้าย ผู้ต้องขังยังให้ข้อมูลถึงข้อจำกัดที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลทั้งในแง่ของการเข้าเยี่ยมและการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวและเพื่อน แม้ว่าในเรือนจำจะมีช่องทางให้ร้องเรียนได้ แต่ผู้ต้องขังมักจะกลัวที่จะร้องเรียนเพราะอาจถูกตอบโต้จากเจ้าพนักงานเรือนจำ

พรบ.ราชทัณฑ์ ฉบับใหม่ได้ผ่านความเห็นชอบเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๙ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เมื่อเทียบกับฉบับเก่าของปี ๒๔๗๘ แล้ว เนื้อหาในฉบับใหม่ได้นำเสนอการพัฒนาของกฎหมายราชทัณฑ์ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงมาตราที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้เครื่องพันธนาการกับผู้ต้องขัง การลงโทษด้วยการขังเดียวที่นานติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า ๑๕ วัน และการอนุญาตเจ้าหน้าที่เรือนจำให้ได้รับการยกเว้นจากการรับโทษความผิดทางแพ่งและทางอาญาในบางกรณี

“หากระดับอารยธรรมของสังคมวัดจากเรือนจำ ประเทศไทยจะต้องถูกมองว่าโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสมควรมองนักโทษเป็นบุคคลที่คู่ควรกับสิทธิที่สำคัญ และรับรองกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ที่เกี่ยวกับเรื่องสภาพในเรือนจำ”

นายแดนทอง บรีน ประธานที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
ติดต่อ
FIDH : Ms. Audrey Couprie (ฝรั่งเศส อังกฤษ) - โทรศัพท์ : +33648059157 (ปารีส)
UCL (สสส.) : Danthong Breen นายแดนทอง บรีน (ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส) - โทรศัพท์ +66814502254 (กรุงเทพ)
Lire la suite