ประเทศไทย : ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่แค่พูด เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต

09/10/2014
Communiqué
en th

กรุงเทพฯ ปารีส 9 ตุลาคม 2557 : รัฐบาลไทยต้องไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องทำตามขั้นตอนอย่างรวดเร็วเพื่อยกเลิกโทษประหาร FIDH (International Federation for Human Rights) และองค์กรสมาชิกอย่างสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กล่าวหนึ่งวันก่อนวันต่อต้านโทษประหารโลกครั้งที่ 12 (10 ตุลาคม 2557)

ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ในจดหมายถึงประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งจะพิจารณาการสมัครเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกของประเทศไทยในคณะมนตีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สำหรับวาระ 2558-2560 ตัวแทนประเทศไทยสัญญาที่จะ “ศึกษาความเป็นไปได้” ที่จะยกเลิกโทษประหาร [1] ในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกโทษประหารเช่นกัน [2]

“ประเทศไทยจะต้องเร่งเปลี่ยนการแสดงพันธกิจที่จะยกเลิกโทษประหาร ให้เป็นมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการให้สัตยาบันรับรองกฎบัตรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และการบัญญัติกฎหมายในประเทศ ซึ่งจะทำให้การสังหารชีวิตด้วยคำสั่งของรัฐกลายเป็นเรื่องในอดีตไป” คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานของ FIDH กล่าว

การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและสังคมในประเทศเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดเงื่อนไขที่บั่นทอนความพยายามยกเลิกโทษประหาร เดิมคาดว่าจะมีการเสนอแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปีนี้ แต่ในปัจจุบันไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากระบวนการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใดภายหลังการทำรัฐประหารของทหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

นอกจากนั้น แทนที่จะเสนอให้ลดจำนวนฐานความผิดที่มีโทษประหาร ผู้กำหนดนโยบาย นักการเมืองและนักกิจกรรมกลับหันมาสนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มประเภทความผิดที่มีโทษประหารมากขึ้น

ในวันที่ 19 กันยายน มีรายงานข่าวว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารเสนอร่างพระราชบัญญัติกำหนดโทษประหารสำหรับผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปิดสนามบิน หรือสร้างความเสียหายต่ออาคารสถานที่ในสนามบินหรือเครื่องบินในท่าอากาศยาน กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยทหารไปแล้ว

ในวันที่ 14 กรกฎาคม มีรายงานข่าวว่านายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และสส.พรรคภูมิใจไทย เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบันเพื่อกำหนดโทษประหารสำหรับความผิดฐานซื้อเสียง

หลังเหตุการณ์ข่มขืนฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีบนขบวนรถไฟที่เข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นักกิจกรรมและบุคคลสำคัญทางสังคมร่วมกันรณรงค์เรียกร้องให้ลงโทษประหารกับผู้ข่มขืน

“การใช้อารมณ์เพื่อตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรืออาชญากรรมร้ายแรง เป็นอุปสรรคสำคัญของเส้นทางการยกเลิกโทษประหารในประเทศไทย” นายแดนทอง บรีน (Danthong Breen) ที่ปรึกษาอาวุโสของสสส.กล่าว “ผู้กำหนดนโยบายต้องไม่ใช้โทษประหารเป็นทางออก การแก้แค้นไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ไม่ช่วยในการป้องปราม และยังส่งเสริมวัฒนธรรมความรุนแรง”

FIDH และสสส.กระตุ้นให้รัฐบาลไทยประกาศข้อตกลงชั่วคราวอย่างเป็นทางการเพื่อยุติการใช้โทษประหาร และให้ลงนามและให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหาร และให้ออกเสียงยอมรับมติซึ่งเรียกร้องให้มีข้อตกลงชั่วคราวระดับโลกเพื่อยุติการประหารชีวิตในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สมัยที่ 69 ในเดือนธันวาคม

จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม มีนักโทษในแดนประหารของไทยอยู่ 623 คน (ชาย 572 คนและหญิง 51 คน) 40% ของผู้ชายและ 82% ของผู้หญิงที่ต้องโทษประหาร เกิดจากความผิดด้านยาเสพติด

ประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตบุคคลนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งมีการประหารชีวิตนายบัณฑิต เจริญวานิช อายุ 45 ปี และนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 52 ปี ด้วยการฉีดยา โดยมีการแจ้งล่วงหน้าเพียงหนึ่งชั่วโมงที่เรือนจำบางขวาง ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ทั้งคู่ถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544

FIDH เป็นสมาชิกของพันธมิตรโลกเพื่อต่อต้านโทษประหาร (World Coalition Against the Death Penalty)

ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ :
FIDH : Mr. Arthur Manet (ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน) โทรศัพท์ +33 6 72 28 42 94 (ปารีส)
FIDH : Ms. Audrey Couprie (ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน) โทรศัพท์ +33 6 48 05 91 57 (ปารีส)
สสส. ดร.แดนทอง บรีน (ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส) โทรศัพท์ +6681 450 2254 (กรุงเทพฯ)

Lire la suite