การควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงขึ้นในระดับน่าตกใจ ตามข้อมูลในรายงานใหม่

26/02/2016
Communiqué
en th
AFP

(ปารีส) การควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสูงขึ้นในระดับน่าตกใจ ภายหลังการทำรัฐประหารในไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 FIDH และสสส.กล่าวในรายงานที่มีการเผยแพร่ในวันนี้ ในรายงาน “36 and counting - Lèse-majesté imprisonment under Thailand’s military junta” (36 และที่ต้องนับต่อไป การคุมขังตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้รัฐบาลทหารไทย) แสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อแบบแผนการละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก อันเป็นผลมาจากการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) การละเมิดทั้งหลายเหล่านี้ถือว่าขัดต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่สำคัญ

“การปฏิบัติมิชอบกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้สถิติด้านสิทธิมนุษยชนของไทยเสื่อมทรามลงอย่างมากภายหลังรัฐประหาร ในช่วงที่จะมีกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระกรณีประเทศไทย (Universal Periodic Review) ประชาคมระหว่างประเทศต้องเสนอให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเนื่องมาจากการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และต้องกดดันให้มีการปฏิรูปมาตรา 112”

คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานของ FIDH

ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารในไทยหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การสอบสวนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมักนำไปสู่การตั้งข้อหาอาญามากกว่าช่วงก่อนรัฐประหารถึงเกือบสามเท่า นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีผู้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลายาวนาน 36 คนตามมาตรา 112 ในช่วงที่ทหารยึดอำนาจ มี ผู้ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกตามมาตรา 112 อยู่ก่อนแล้วหกราย จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวนบุคคลที่ถูกจับกุมในคดีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 53 คน หรือเพิ่มขึ้นเกือบเก้าเท่า โดยในจำนวนนี้มีอยู่ 35 คนที่ได้รับโทษจำคุก และอีก 18 คนที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณา

จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายคนต้องถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานระหว่างรอการพิจารณา และมักถูกปฏิเสธอย่างเป็นระบบไม่ให้ได้รับการประกันตัว ส่งผลให้มีการละเมิดอย่างมากต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยในจำนวน 66 คนที่ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดมาตรา 112 หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มีเพียงสี่คน (6%) ที่ได้รับการประกันตัวระหว่างรอการพิจารณา จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2559 61% ของจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่างถูกควบคุมตัวมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปีระหว่างรอการพิจารณา โดย 28% ถูกควบคุมตัวมาเกือบหกเดือนแล้ว

นอกจากนั้นการให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารแทนที่จะใช้ศาลพลเรือนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 นับแต่รัฐประหาร ศาลทหารได้พิจารณาและลงโทษจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 24 คน โดยมีโทษจำคุกโดยเฉลี่ยสูงกว่าโทษจำคุกในช่วงก่อนรัฐประหารที่เป็นการตัดสินของศาลพลเรือนถึงสองปีครึ่ง

นับแต่รัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เกือบ 75% ของการจับกุม การควบคุมตัว และการจำคุกกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายหลังรัฐประหาร มักเป็นผลมาจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก การควบคุมตัวบุคคลในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรวมทั้งการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเสรีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย เป็นการละเมิดอย่างชัดเจนต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานสหประชาชาติและกลไกพิเศษหลายแห่งต่างได้แสดงความกังวลอย่างเปิดเผยต่อการฟ้องร้องดำเนินคดี การควบคุมตัวเป็นเวลานาน และคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหลายปีตามมาตรา 112 พวกเขาได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 และให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวในคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention - UNWGAD) ได้ประกาศว่าการควบคุมตัวบุคคลในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสามคนคือ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และภรณ์ทิพย์ มั่นคง เป็นการกระทำโดยพลการ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติได้ร้องขอให้ทางการไทยปล่อยตัวบุคคลทั้งสาม และให้ชดเชยค่าเสียหายกรณีที่มีการควบคุมตัวพวกเขาโดยพลการ

“จนกว่าจะมีการเริ่มต้นปฏิรูปมาตรา 112 โดยทันที เชื่อว่าจำนวนผู้ถูกควบคุมตัวในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเพิ่มขึ้นต่อไป การปฏิรูปมาตรา 112 จะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในประชาคมโลกดีขึ้น และตอบสนองต่อข้อกังวล ด้านสิทธิมนุษยชนของประชาคมระหว่างประเทศ”

ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสสส

รายงานนี้ยังครอบคลุมรายละเอียดกรณีบุคคลหกคน ชายสามและหญิงสาม ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5-30 ปีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการละเมิดพระราชบัญญัติการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ เรื่องราวของพวกเขาสะท้อนให้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการที่ทางการบังคับใช้ กฎหมายมาตรา 112 อย่างจริงจังเกินไป

ข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ
FIDH : Mr. Arthur Manet (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สเปน) – โทรศัพท์ +33672284294 (ปารีส)
FIDH : Ms. Audrey Couprie (ฝรั่งเศส, อังกฤษ, สเปน) - โทรศัพท์ +33648059157 (ปารีส)
UCL : ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสสส. (ไทย, อังกฤษ) - โทรศัพท์ +66890571755 (กรุงเทพฯ)
Lire la suite