กรุงเทพฯ, ปารีส, 27 มีนาคม 2568 : รายงานยาว 59 หน้าพบว่า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการดำเนินการตามระเบียบที่จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังบางคนรับโทษนอกเรือนจำ นอกจากนี้ มาตรการที่สามารถเปิดทางให้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือจำเลยในสถานที่อื่นนอกเหนือจากเรือนจำได้ ยังอยู่ระหว่างรอการนำไปปฏิบัติ
ในช่วงปลายปี 2567 กลไกของสหประชาชาติ 2 กลไก ได้แก่ คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน (Committee Against Torture) และคณะทำงานว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กหญิง (Working Group on discrimination against women and girls) ระบุว่าความแออัดในเรือนจำประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเด็นกังวลหลักที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกลไก
“ทางการไทยทราบถึงปัญหาความแออัดยัดเยียดอย่างรุนแรงที่แพร่ระบาดในระบบทัณฑสถาน แต่กลับล่าช้าในการตัดสินใจรับแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพไปใช้ นโยบายยาเสพติดที่แข็งกร้าวขึ้นซึ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้อาจส่งผลให้มีผู้ถูกจำคุกมากขึ้น รัฐบาลไทยต้องดำเนินการโดยไม่ล่าช้าในการนำมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และประกันว่านโยบายยาเสพติดของประเทศให้ความสำคัญกับการเยียวยาฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ” ฟาเทีย เมาลิดิยันตี รองประธาน FIDH กล่าว
จำนวนประชากรเรือนจำของไทยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน และจำนวนผู้ต้องขังรวมทั้งหมดเกินขีดความจุสูงสุดอย่างเป็นทางการของระบบทัณฑสถานของประเทศถึง 12% โดยมีเรือนจำ 102 แห่ง (หรือ 71%) จากทั้งหมด 143 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ต้องขังสูงเกินความจุที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ จำนวนผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิต (364) ยังเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน และเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2563
แม้ว่าจำนวนผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินลงโทษจากคดียาเสพติดจะลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน แต่จำนวนผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกจากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดยังคงคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ (73%) ของประชากรเรือนจำทั้งหมด รัฐบาลไทยมีมติลดเพดานปริมาณการครอบครองเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนสำหรับใช้ส่วนตัวในเดือนมิถุนายน 2567 การลดเกณฑ์ขั้นต่ำนี้อาจทำให้แนวโน้มการดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติดที่ลดลงกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
ในขณะเดียวกัน จากคำบอกเล่าของผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขัง พบว่าสภาพในเรือนจำยังคงย่ำแย่ โดยมีรายงานถึงปัญหาและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ได้แก่ ห้องขังที่แออัดยัดเยียด รูปแบบการลงโทษและการลงโทษทางวินัยซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติอันโหดร้ายทารุณ การเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ การขาดความคุ้มครองหญิงข้ามเพศ การจำกัดปริมาณน้ำและการจัดหาผลิตภัณฑ์สุขอนามัยขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอ อาหารคุณภาพต่ำและคุณค่าทางโภชนาการไม่เพียงพอ การจัดหาบริการดูแลสุขภาพกายและจิตที่มีคุณภาพไม่เพียงพอ การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ไม่เหมาะสม การปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่เป็นธรรม การควบคุมการเข้าถึงข่าวสารและข้อมูลภายนอกอย่างเข้มงวด โอกาสเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการและเยียวยาฟื้นฟูถูกจำกัด และกลไกร้องเรียนที่อ่อนแอและไม่มีประสิทธิภาพและความกลัวถูกตอบโต้ของผู้ต้องขัง
ผลลัพธ์อันสืบเนื่องมาจากการตอบสนองที่ไม่เพียงพอต่อเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในเรือนจำ ปรากฏให้เห็นชัดจากการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม (หรือที่รู้จักในชื่อ บุ้ง) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงที่ถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567
หนึ่งในพัฒนาการเชิงบวกเพียงไม่กี่อย่างในปี 2567 คือการจัดหาเสื้อชั้นใน กางเกงชั้นใน และผลิตภัณฑ์สุขอนามัยสำหรับประจำเดือนให้แก่ผู้ต้องขังหญิง แม้ว่าความถี่และปริมาณของผ้าอนามัยที่จัดหาให้จะแตกต่างกันไปอย่างมากในแต่ละเรือนจำ
รายงานสภาพเรือนจำประจำปีโดย FIDH-สสส. ซึ่งปัจจุบันเป็นฉบับที่สี่นี้ เป็นการประเมินสภาพเรือนจำในประเทศไทยที่เป็นอิสระและครอบคลุมรอบด้านเพียงฉบับเดียว รายงานนี้ยังมีข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติหลายประการสำหรับการปรับปรุงสภาพในเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง