ประเทศไทย : กลไกสหประชาชาติกล่าวว่าการคุมขังทนายความสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว

20/11/2024
Déclaration
en th

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) เน้นย้ำข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา อย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข หลักจากมีการออกความเห็นของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ซึ่งพิจารณาว่าการคุมขังอานนท์ นำภา เป็นไป “โดยพลการ” โดยขณะนี้อานนท์กำลังรับโทษจำคุก 14 ปี ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย (หมิ่นประมาทกษัตริย์)

กรุงเทพ, ปารีส, เจนีวา, 18 พฤศจิกายน 2567 ความเห็นของ WGAD ได้รับการรับรองโดย WGAD เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 หลังจากมีการยื่นคำร้องโดย FIDH และ TLHR เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 เกี่ยวกับการพิพากษาลงโทษจำคุกของอานนท์ นำภา โดยศาลอาญากรุงเทพ ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์สองคดี เมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 และ 17 มกราคม 2567 ซึ่งเขาถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี ในแต่ละคดี

เมื่อวันที่ 29 เมษายน และ 25 กรกฎาคม 2567 อานนท์ถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีกสองและสี่ปี ในสองคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทำให้โทษจำคุกทั้งหมดที่เขาได้รับรวมกันเป็น 14 ปี เขากำลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเขาได้ถูกคุมขังโดยพลการที่นี่มาตั้งแต่การตัดสินโทษคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์คดีแรกของเขาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566

อานนท์ยังถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อีก 10 คดีอันเป็นผลมาจากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกระหว่างการเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทยเมื่อปี 2563 – 2564 โดยก่อนที่จะต้องโทษจำคุก เขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานานถึงสองช่วง (113 วันและ 202 วัน) ศาลได้ปฏิเสธการประกันตัวของเขาหลายครั้ง รวมถึง การยื่นขอประกันตัว 19 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2566

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 นอกจากกรณีของอานนท์ WGAD ยังพบว่าการลิดรอนเสรีภาพของบุคคล 11 คนที่ถูกคุมขังภายใต้มาตรา 112 นั้น เป็นไป “โดยพลการ” เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายประการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration for Human Rights - UDHR) และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant for Civil and Political Rights - ICCPR)

โดยในความเห็นที่กล่าวว่าการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์เป็นการกระทำโดยพลการนั้น WGAD ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวเขาโดย “ทันที” และ “ให้เขาได้รับสิทธิได้รับการชดเชยและการเยียวยาอื่นๆ”

WGAD ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ WGAD และพันธสัญญาของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี ต่อผู้ใดที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี
รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

WGAD ตัดสินว่าการคุมขังอานนท์ นำภา ภายใต้มาตรา 112 นั้น นั้นเป็นไปโดยพลการ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 2, 7,9,11 และ 19 ของ UDHR และ มาตรา 2, 9, 14, 15, 19 และ 26 ของ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศภาคี โดยบทบัญญัติดังกล่าวของ UDHR และ ICCPR ได้รับรองหลักการไม่เลือกปฏิบัติและหลักความเสมอภาคเบื้องหน้ากฎหมาย และสิทธิพื้นฐานในเสรีภาพ สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสิทธิในการมีเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก

WGAD พบว่าการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์นั้นขาดความชอบด้วยกฎหมาย เพราะเขาได้ถูกคุมขังโดยมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ “ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ “กำกวมและกว้างเกินไป” WGAD ยังได้พิจารณาว่าการคุมขังก่อนพิจารณาที่ยาวนานของอานนท์ซึ่งเป็นผลจากการที่ศาลปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวหลายครั้งโดยไม่ได้มีการพิจารณาถึงสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบุคคลนั้นเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพของเขา โดยสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองภายใต้ มาตรา 9 ของ UDHR มาตรา 9 (3) ของ ICCPR และหลักการที่ 38 และ 39 ขององค์หลักการว่าด้วยความคุ้มครองต่อบุคคลที่ถูกคุมขังหรือจำคุกในทุกรูปแบบ (Body of Principles for the Protection of All Persons under Any Form of Detention or Imprisonment)

WGAD กำหนดว่าคำปราศัยของอานนท์ ทั้งที่ได้มีการกล่าวในที่ชุมนุมและทางออนไลน์ นั้นเป็นการแสดงออกที่มีความชอบธรรม WGAD มองว่าการดำเนินคดี และการคุมขังอานนท์ภายใต้มาตรา 112 นั้นเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ตามที่บัญญัติในมาตรา 19 ของ UDHR และ มาตรา 19 ของ ICCPR

เกี่ยวกับสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม WGAD กล่าวว่าความล่าช้าในการพิจารณาคดีของอานนท์หลังจากที่โดนตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 ซึ่งได้ถูกยืดเยื้อไปอีกจากการถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดี นั้น “ยาวนานแบบที่ไม่สามารถยอมรับได้” ดังนั้น WGAD จึงตัดสินว่าการลงโทษจำคุกอานนท์ต่อมานั้นเป็นการละเมิดสิทธิของเขาในการได้รับการพิจารณาคดีในระยะเวลาที่เหมาะสมและปราศจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล ภายใต้ มาตรา 9(3) และ 14(3) (c) ของ ICCPR และ หลักการที่ 38 ขององค์หลักการว่าด้วยความคุ้มครองต่อบุคคลที่ถูกคุมขังหรือจำคุกในทุกรูปแบบ

WGAD ยังได้ตัดสินว่าอานนท์ถูกลิดรอนเสรีภาพ “อย่างเลือกปฏิบัติ บนฐานของความเห็นทางการเมืองและความเห็นอื่นๆ” เกี่ยวกับมาตรา 112 โดยคำนึงถึงรูปแบบในการดำเนินคดีและคุมขังของเจ้าหน้าที่ไทยต่อบุคคลที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสันติต่อกฎหมายดังกล่าว

กลุ่มสังเกตุการณ์ฯ และ TLHR ยินดีกับความเห็นของ WGAD และเน้นย้ำข้อเรียกร้องของพวกเขาต่อรัฐบาลไทยให้ปล่อยตัวอานนท์ นำภา และบุคคลอื่นๆ อย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคนซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพโดยมาตรา 112

แม้ว่าจะมีข้อกังวลจากนานาชาติเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัติรย์ เจ้าหน้าที่ไทยยังคงดำเนินคดีและคุมขังบุคคลเนื่องจากการละเมิดมาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่าง 24 พฤศจิกายน 2563 และ 3 พฤศจิกายน 2567 บุคคลอย่างน้อย 275 คน ซึ่งรวมถึงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเด็ก 20 คน ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 โดยนอกจากอานนท์แล้วยังมีอีก 25 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำขณะนี้

กลุ่มสังเกตุการณ์ฯ และ TLHR เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR และเรียกร้องให้รัฐบาลงดเว้นจากการจับกุม ดำเนินคดี และควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรา 112 ที่เพียงแต่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

***

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดย FIDH และกลุ่มองค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การกดขี่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT ต่างเป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ภายหลังจากการก่อตั้งโดยกลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนสองวันหลังจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีกับบุคคลที่ถูกจับและ/ หรือดำเนินคดีเนื่องจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกหรือการชุมนุมโดยสงบ TLHR ยังเป็นตัวแทนทางกฎหมายให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมทั้งประสานงานกับกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการรณรงค์ในประเทศ

Lire la suite