กรุงเทพฯ, ปารีส 29 ตุลาคม 2567 : รายงาน 43 หน้า ที่มีชื่อว่า “นอกสายตา
การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานกักตัวคนเข้าเมืองของไทย” (Out of sight - Human rights violations in Thailand’s immigration detention centers) ถูกจัดทำขึ้นมาจากบทสัมภาษณ์กับอดีตผู้ต้องกักที่ได้รับการปล่อยตัวเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ในห้องกักที่ต่ำกว่ามาตรฐานของสากลและพันธกรณีของประเทศไทย
สถานกักตัวคนเข้าเมืองของประเทศไทยมีลักษณะที่แออัดมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากอัตราการครอบครองพื้นที่ (occupancy rate) ในสถานกักตัวคนเข้าเมืองที่สูงถึง 155% อดีตผู้ต้องขังที่สัมภาษณ์ส่วนใหญ่รายงานว่าถูกคุมขังในห้องขังที่สกปรกและมีพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัวน้อยมาก ในสภาพดังกล่าวยังมีเรื่องของการลงโทษ การทารุณกรรม การปฏิบัติต่อผู้ต้องกักอย่างไม่เหมาะสม การไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยพื้นฐานโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง อาหารที่มีคุณภาพต่ำ การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมมีจำกัดอย่างมาก ซึ่งในบางกรณีอาจก่อให้เกิดการเสียชีวิต การขาดกิจกรรมนันทนาการ และมีการติดต่อกับโลกภายนอกที่จำกัด
“ชาวต่างชาติที่ถูกควบคุมตัวในสถานกักตัวคนเข้าเมืองของไทยต้องเผชิญกับสภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่าในเรือนจำของไทยเสียอีก ผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองหลายคน รวมทั้งผู้ลี้ภัย ผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย และเด็ก ไม่ควรถูกควบคุมตัวตั้งแต่แรก แต่กลับต้องใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กักกันเหล่านั้นเป็นเวลานานหลายปีโดยไม่มีช่องทางทางกฎหมายที่จะช่วยพวกเขาได้ ประเทศไทยไม่เพียงต้องปรับปรุงสภาพในสถานกักตัวคนเข้าเมืองเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้กฎหมายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับคนเข้าเมืองสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้วย” ฟาเทีย มอลิดิยานติ (Fatia Maulidiyanti) รองประธาน FIDH กล่าว
การขาดกรอบกฎหมายระดับชาติและนโยบายด้านการคุ้มครองทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะผู้ลี้ภัยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มั่นคง ซึ่งพวกเขาถูกจับกุม ดำเนินคดี กักขัง และถูกส่งกลับออกไปนอกประเทศ นอกจากนี้ พวกเขายังถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกด้วย
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทางการไทยยังละเมิดหลักการระหว่างประเทศเรื่องการห้ามส่งกลับไปเผชิญอันตราย (non-refoulement) เป็นจำนวนหลายครั้ง โดยมีการส่งตัวผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานะผู้ลี้ภัย - รวมถึงชาวม้ง อุยกูร์ โรฮิงญา และกัมพูชา - กลับไปยังประเทศต้นทางที่พวกเขาเผชิญการประหัตประหาร
การไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับระยะเวลากักขังในขณะที่รอการส่งกลับประเทศของผู้ต้องกักนั้นทำให้เกิดการกักขังที่เป็นเวลานานหรือไม่มีกำหนด ซึ่งถือเป็นการควบคุมตัวโดยพลการภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวถูกทำให้ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเนื่องจากผู้ต้องกักไม่มีสิทธิที่จะตั้งคำถามต่อความถูกต้องตามกฎหมายของการกักขังและ/หรือให้ศาลมีการทบทวนคำสั่งทางปกครองเกี่ยวกับการกักขังของตน สุดท้ายนี้ ไทยไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายใดที่ห้ามกักขังผู้อพยพเด็ก
ความคิดริเริ่มที่ทางการไทยดำเนินการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องบางประการเหล่านี้กลับไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ความคิดริเริ่มดังกล่าวรวมถึงการจัดตั้งกลไกคัดกรองระดับชาติ ( National Screening Mechanism : NSM) เพื่อให้การคุ้มครองแก่ชาวต่างชาติที่กำลังเผชิญหรือมีความเสี่ยงที่จะถูกประหัตประหารหากถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง และการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) โดยหน่วยงานของไทย 7 แห่งเพื่อยุติการกักขังเด็กผู้อพยพในสถานกักตัวคนเข้าเมือง
ในเชิงบวก จากการที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ประเทศไทยไม่เพียงแต่ได้กำหนดหลักการห้ามส่งกลับไปเผชิญอันตรายเท่านั้น แต่ยังได้สร้างหลักประกันทางกฎหมายและกระบวนการเพื่อป้องกันการทรมาน การกระทำทารุณ และการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งใช้ได้กับขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองและกระบวนการส่งกลับออกไปนอกประเทศอีกด้วย
รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะหลายข้อที่มีต่อรัฐบาลไทย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (UN) โดยมุ่งเน้นที่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานกักตัวคนเข้าเมืองและจัดตั้งกรอบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัย และผู้อพยพอื่นๆ ในสถานการณ์ที่เปราะบาง