ประเทศไทย : การยุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นการทำให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนถอยหลัง

07/08/2024
Communiqué
en th
Anusak Laowilas / NurPhoto / NurPhoto via AFP

สหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ประนามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการบั่นทอนหลักการประชาธิปไตยและไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

กรุงเทพฯ, ปารีส, 7 สิงหาคม 2567 วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักและเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด (14.4 ล้าน) และมีที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด (151 ที่นั่ง) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีคำสั่งตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางเมืองของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

“การยุบพรรคก้าวไกลทำให้เชื่อเสียงระหว่างประเทศของประเทศไทยเสื่อมเสียอีกครั้ง การปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะคุ้มครองพื้นที่ประชาธิปไตยและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอันสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” Adilur Raman Khan เลขาธิการ FIDH กล่าว

คดียุบพรรคก้าวไกลเกิดจากการที่พรรคเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์) ในระหว่างการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป โดยมาตรา 112 มีบทลงโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปีต่อกระทงต่อบุคคลที่มีความผิดในการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าข้อเสนอของพรรคก้าวไกลถือเป็นความพยายาม “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุข” ตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญประเทศไทย ดังนั้น ศาลจึงได้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองที่กระทำการล้มล้างสถาบันกษัตริย์กษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญได้ ศาลยังห้ามคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นเป็นระยะเวลา 10 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

FIDH TLHR และ สสส. เน้นย้ำว่าการยุบพรรคก้าวไกลด้วยเหตุผลเพียงเพราะข้อเสนอโดยชอบธรรมให้มีการแก้ไขกฎหมายผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติหลายข้อของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บทบัญญัติดังกล่าวประกันสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 19) และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม (มาตรา 22) นอกจากนี้ การตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคยังเป็นการพรากสิทธิในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการสาธารณะและได้รับการเลือกตั้งอย่างไร้เหตุผล (มาตรา 25)

FIDH TLHR และ สสส. ยังชี้แจงว่าเป็นเวลามากกว่าทศวรรษแล้ว ที่ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเห็นว่ามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก

ในวันที่ 30 เมษายน 2567 สองผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลว่าการยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคนั้น “จะสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวให้กับประชาธิปไตยและพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในประเทศไทย” โดยสองผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนยังได้เน้นย้ำข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ มาตรา 112 ในทางที่ผิดเพื่อ “ขัดขวางและปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่นๆที่มีความประสงค์แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์”

Lire la suite