ประเทศไทย : การเสียชีวิตในขณะถูกคุมขังของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย บุ้ง เนติพร สเน่ห์สังคม

17/05/2024
Appel urgent
en th
@eggcatcheese Facebook

ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 บุ้ง เนติพร สเน่ห์สังคม อายุ 28 ปี สมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทะลุวัง เสียชีวิตขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์) กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของเธอ ซึ่งเป็นการตอกย้ำความด่างพร้อยอย่างมากของกระบวนการยุติธรรมและระบบทัณฑสถานของไทย

ปารีส - เจนีวา – กรุงเทพ, 16 พฤษภาคม 2567 ได้มีการรายงานว่า บุ้ง เนติพร สเน่ห์สังคม มีอาการหัวใจล้มเหลวขณะอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ในเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เนติพรหมดสติที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรุงเทพฯ ก่อนที่ถูกส่งตัวมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งต่อมาเนติพรได้ถูกประกาศว่าเสียชีวิตในเวลา 11.22 น.

ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2567 เนติพรถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินว่าเธอมีความผิดในคดีละเมิดอำนาจศาลและตัดสินโทษจำคุกหนึ่งเดือน อันเกี่ยวเนื่องมาจากการทะเลาะวิวาทกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่เนติพรและสมาชิกกลุ่มทะลุวังอื่นๆเข้าร่วมการฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ของการนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง

โดยในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ถอนประกันของเนติพรในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ อันสืบเนื่องมาจากการทำโพลสาธารณะเกี่ยวกับขบวนเสด็จโดยเนติพรและนักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวังอื่นๆ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยศาลได้พิพากษาว่าเนติพรละเมิดเงื่อนไขการประกันตัว จากการพ่นสเปรย์บนธงประจำตัวของสมเด็จพระราชินีในระหว่างการชุมนุมอย่างสันติหน้ากระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566

วันที่ 27 มกราคม 2567 เนติพรได้เริ่มอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและการหยุดคุมขังบุคคลอันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นต่าง เนติพรถูกส่งตัวมาที่สถานพยาบาลหลายครั้งเนื่องจากสุขภาพที่ถดถอยของเธอ เธอได้เริ่มกลับมาดื่มน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และทานอาหารได้เดือนเมษายน 2567 ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ในวันที่ 4 เมษายน 2567 เธอได้เข้ารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ กรุงเทพฯ เนื่องจากสุขภาพที่ถดถอยอันเป็นผลจากการอดอาหารประท้วง

เนติพรเคยทำการอดอาหารประท้วงก่อนหน้านี้ในปี 2565 ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีที่ทัณฑสถานหญิงกลาง อันเนื่องมาจากการจัดทำโพลสาธารณะดังกล่าว ร่วมกับนักเคลื่อนไหวกลุ่มทะลุวัง ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ โดยแม้ร่างกายของทั้งคู่จะถดถอย คำร้องขอประกันตัวของทั้งคู่ก็ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกระทั่งวันที่ 4 สิงหาคม 2565 พวกเขาได้เริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เพื่อคัดค้านการคุมขัง

เนติพรเป็นนักกิจกรรมผู้มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศและเยาวชนในปี 2563 – 2564 โดยต่อมา เธอได้เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยทะลุวัง โดยร่วมการจัดทำโพลสาธารณะเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทย การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเธอทำให้เธอถูกดำเนินคดีหลายครั้งตั้งแต่ปี 2564 รวมถึงคดีละเมิดมาตรา 112 จำนวน 2 คดี

ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 16 พฤษภาคม 2567 มีบุคคลอย่างน้อย 272 คน รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเยาวชน 20 คน ถูกจับในคดีมาตรา 112 โดยในจำนวนนั้นมี 18 คน ที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ในขณะนี้ และอีก 7 คน ถูกพิพากษาจำคุกแล้ว ซึ่งรวมถึง อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ซึ่งถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่สามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 และขณะนี้อยู่ระหว่างการชดใช้โทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 20 วัน

กลุ่มสังเกตการณ์ฯ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของเนติพร เสน่ห์สังคม และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย กรมราชทัณฑ์ สำนักงานอัยการสูงสุด และตำรวจ ดำเนินการสืบสวนอย่างถี่ถ้วนและเป็นกลางเพื่อหาสาเหตุและพฤติการณ์การเสียชีวิตของเธอ

นอกจากนี้ ทั้งสามองค์กรขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุมขังโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมถึงบุคคลที่ถูกคุมขังคดีมาตรา 112 ทั้งสามองค์กรยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยระงับการจับกุม ดำเนินคดี และคุมขังนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยภายใต้มาตรา 112 จากการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพการแสดงความเห็นและการแสดงออก

อีกทั้ง เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

***
The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (the Observatory) ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 โดย FIDH และองค์การต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT เป็นสมาชิก ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกป้องกันสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 โดยทำงานด้านความยุติธรรม การคุ้มครอง ขับเคลื่อนและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปรัชญาและกิจกรรมของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งให้กับสิทธิมนุษยชนและดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างยั่งยืนทั่วทั้งสังคม โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษเรื่องบุคคลชายขอบ รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้รัฐ แรงงานข้ามชาติและเหยื่อของความขัดแย้ง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งเมื่อ 24 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลา 2 วันหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยการรวมตัวของกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม เดิมทีเป็นองค์กรที่มีลักษณะเฉพาะกาลโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีกับบุคคลผู้ถูกกองทัพเรียกให้ไปรายงานตัว จับกุม คุมขังอันเป็นผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารในปี 2557

Lire la suite