ประเทศไทย : กลไกสหประชาชาติได้รับคำร้องกรณีการคุมขังทนายความสิทธิมนุษยชน อานนท์ นำภา

04/03/2024
Communiqué
en th
Prachatai

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ต่อการถูกคุมขังอย่างต่อเนื่องของอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงของไทยและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้กำลังรับโทษจำคุกแปดปีในข้อหาตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย (หมิ่นประมาทกษัตริย์)

กรุงเทพ, ปารีส, เจนีวา, 4 มีนาคม 2567 อานนท์ นำภา ถูกศาลอาญา กรุงเทพฯ พิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ 2 คดี เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 และ 17 มกราคม 2567 เขาถูกพิพากษาจำคุก 4 ปี ในแต่ละคดี ให้รับโทษจำคุกติดต่อกัน โดยมีโทษจำคุกรวม 8 ปี

“อานนท์ นำภาถูกดำเนินคดีและจำคุกจากการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยสันติของเขา เรามั่นใจว่าคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการจะตระหนักถึงการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์โดยพลการ และเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวเขาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข” เลขาธิการ FIDH, Adilur Raman Khan

Gerald Staberock, เลขาธิการ OMCT ให้ความเห็นว่า “ในกรณีของอานนท์ มีการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาไทยเพื่อลงโทษการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ชอบด้วยกฎหมาย เราไม่ควรลืมว่ากลไกสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายกลไกได้พบว่ามาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปีต่อกระทง ต่อผู้ใดที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

การพิพากษาลงโทษและการจำคุกของอานนท์ นำภา เกิดจากการที่เขาใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในระหว่างการเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทยในปี 2563-2564

ขณะนี้ อานนท์ นำภา ยังคงถูกดำเนินคดีในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์อีก 12 คดี โดยก่อนที่เขาจะถูกจำคุก เขาเคยถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลายาวนานสองช่วง (113 วัน และ 202 วัน) ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวจำนวนมากของเขา

กลุ่มสังเกตุการณ์ฯ และ TLHR โต้แย้งว่าการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์ นำภา นั้นเป็นไปโดยพลการ เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายข้อของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ สิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งรับรองโดยมาตรา 9, 14 และ 19 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี กลุ่มสังเกตุการณ์ฯ และ TLHR ยังยืนยันว่าการลิดรอนเสรีภาพของอานนท์ นำภา เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองและสถานะของเขาในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลไกการติดตามสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายกลไกได้แสดงความกังวลซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย ในหลายครั้งพวกเขาพิจารณาว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยกเลิก ตลอดจนการปล่อยตัวผู้ต้องขังในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์

นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา WGAD พบว่าการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลสิบคนที่ถูกคุมขังภายใต้มาตรา 112 นั้นเป็น "การกระทำโดยพลการ" เนื่องจากฝ่าฝืนบทบัญญัติหลายประการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและ ICCPR

กลุ่มสังเกตุการณ์ฯ และ TLHR เรียกร้องให้ปล่อยตัวอานนท์ นำภา โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR โดยองค์กรทั้งสอง ยังเรียกร้องให้รัฐบาลงดเว้นจากการจับกุม ดำเนินคดี และควบคุมตัวนักปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรา 112 ที่เพียงแต่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ :

● FIDH : Maxime Duriez : mduriez@fidh.org
● OMCT : Francesca Pezzola : fpe@omct.org

Lire la suite