ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :
กลุ่มสังเกตการณ์ได้รับแจ้งเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่องของนายโสภณ สุรฤทธิ์ดำรงค์ หรือที่รู้จักว่า เก็ท แกนนำกลุ่มนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย โมกหลวงริมน้ำ และ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิต หรือที่รู้จักว่า ใบปอ สมาชิกกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทะลุวัง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2563 และได้ขยายจากการเรียกร้องสิทธิของนักศึกษามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในกรุงเทพฯ ไปสู่ประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการบังคับสูญหาย สิทธิแรงงาน และความเท่าเทียม กลุ่มทะลุวังก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี 2565 เพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย (“หมิ่นประมาทกษัตริย์”) และจัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับผลกระทบของสถาบันกษัตริย์ไทยที่มีต่อชีวิตของประชาชน และตั้งคำถามว่าควรมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ศาลอาญากรุงเทพเพิกถอนการประกันตัวและสั่งฝากขังโสภณและณัฐนิช เนื่องจากทั้งสองฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวของการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งได้รับเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 และ 4 สิงหาคม 2565 ตามลำดับ จากการเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ระหว่างการประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงเทพฯ เงื่อนไขการประกันตัวของโสภณเกิดจากคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ซึ่งเขาถูกดำเนินคดีจากการกล่าวคำปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์พระราชินีไทยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 สำหรับณัฐนิช เงื่อนไขการประกันตัวของเธอมาจากคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” เช่นกัน สืบเนื่องจากโพสต์บนเฟซบุ๊กที่เธอแชร์เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เกี่ยวกับงบประมาณที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์และการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะที่เธอจัดขึ้นในกรุงเทพฯ การสำรวจเหล่านี้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าอนุญาตให้กษัตริย์ของไทยใช้อำนาจตามดุลยพินิจ
ในวันเดียวกับที่พวกเขาถูกถอนประกันตัว ทนายของโสภณและณัฐนิชได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว ซึ่งศาลปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าทั้งคู่ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวครั้งก่อนด้วยการเข้าร่วมการประท้วงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 และมีแนวโน้มที่จะก่อเหตุอันตรายอื่นๆหรือกระทําการอย่างที่เคยถูกกล่าวหาอีก เมื่อศาลมีคำตัดสิน โสภณถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนณัฐนิชถูกนำตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพฯเพื่อควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี
การพิจารณาเพิกถอนการประกันตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นี้ ริเริ่มโดยเจ้าหน้าที่ศาลที่ส่งรายงานต่อผู้พิพากษาโดยกล่าวหาว่าณัฐนิชอาจละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวของเธอโดยเข้าร่วมการประท้วงดั่งกล่าว ภายหลังโสภณถูกเพิ่มเข้าสู่การพิจารณาเพิกถอนประกันตัวด้วย
กลุ่มสังเกตการณ์ตระหนักว่าโสภณและณัฐนิชถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดมาตรา 112 สืบเนื่องจากกิจกรรมที่สนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ปัจจุบัน โสภณกำลังเผชิญข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” จาก 3 คดี ได้แก่ : 1) คำปราศรัยที่เขากล่าวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ซึ่งถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ ; 2) คำปราศรัยข้างต้นที่เขากล่าวในการประท้วงในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ; และ 3) คำปราศรัยในโอกาสวันแรงงานสากลวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ โสภณถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2565 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนได้รับการประกันตัว
ณัฐนิชถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ใน 3 คดี ได้แก่ ; 1) ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่สยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ; 2) กรณีที่อ้างถึงข้างต้นเกี่ยวกับการแชร์โพสต์บนเฟสบุ๊กเกี่ยวกับงบประมาณที่จัดสรรให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ; และ 3) การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ 18 เมษายน 2565 ในสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าปล่อยให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามดุลยพินิจ ณัฐนิชถูกควบคุมตัวเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เป็นเวลา 94 วัน ระหว่างวันที่ 3 พฤษภาคม ถึง 4 สิงหาคม 2565 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ก่อนได้รับการประกันตัว
ระหว่างถูกควบคุมตัว โสภณและณัฐนิชทำการอดอาหารเพื่อประท้วงการคุมขังก่อนการพิจารณาคดีและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว พวกเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะไม่กระทำความผิดซ้ำ เข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายในที่สาธารณะ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่อาจสร้างความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
กลุ่มสังเกตการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมของโสภณและณัฎฐนิตย์ ผู้ซึ่งดูเหมือนจะตกเป็นเป้าหมายจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบโดยชอบ นอกจากนั้น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยซึ่งถูกดำเนินคดีจากการกล่าวคำปราศรัยที่วิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ผ่านเฟสบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 มีกำหนดเข้าร่วมการพิจารณาเพิกถอนประกันตัวในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งศาลจะพิจารณาว่าการเข้าร่วมการประท้วงเอเปก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ของเธอละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวใด ๆหรือไม่
กลุ่มสังเกตการณ์ตระหนักว่าระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 11 มกราคม 2566 บุคคล 226 คน ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้เยาว์ 17 คน ถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ขณะนี้ห้าคนถูกควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดี
กลุ่มสังเกตการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวโสภณ สุรฤทธิ์ดำรงค์ ณัฐนิช ดวงมุสิต และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนในประเทศโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข และยุติการคุกคามทั้งหมด รวมถึงในระดับตุลาการต่อพวกเขา
โปรดดำเนินการ :
โปรดเขียนถึงเจ้าหน้าที่ของประเทศไทยและเรียกร้องเพื่อขอให้ดำเนินการ ดังนี้ :
– รับประกันความสมบูรณ์ทางร่างกายและทางจิตใจของโสภณและณัฐนิช รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรายอื่นๆ ในประเทศไทย
– ปล่อยตัวโสภณและณัฐนิช รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยรายอื่นๆ ในประเทศไทย โดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการกักขังพวกเขาเป็นไปโดยพลการ และมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อลงโทษพวกเขาจากการทำกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน
– ยุติการล่วงละเมิดทั้งหมด รวมถึงในระดับตุลาการ ต่อโสภณ สุรฤทธิ์ดำรงค์ ณัฐนิช ดวงมุสิต และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศคนอื่นๆ และประกันในทุกกรณีว่าพวกเขาสามารถดำเนินกิจกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่มีอุปสรรคและความกลัวการถูกตอบโต้
– รับประกันในทุกกรณีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 19 และ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ; ICCPR)
– งดเว้นจากการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเพื่อโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย
ที่อยู่ :
• นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี Email : spmwebsite@thaigov.go.th
• นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีเมล : minister@mfa.go.th
• นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อีเมล : compilingcenter@moj.go.th
• พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบกไทย อีเมล : webadmin@rta.mi.th
• พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีเมล : info@royalthaipolice.go.th
• นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีเมล : help@nhrc.or.th, info@nhrc.co.th
• ฯพณฯ เสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ อีเมล : thaimission.GVA@mfa.mail.go.th
• สถานทูตไทยในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม อีเมล : thaibxl@thaiembassy.be
และโปรดเขียนจดหมายถึงผู้แทนทางการทูตของประเทศไทยในประเทศของท่าน
***
ปารีส-เจนีวา 20 มกราคม 2566
กรุณาแจ้งให้เราทราบถึงการดำเนินการใดๆ ตามคำร้องนี้ในจดหมายตอบกลับของท่าน
The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (the Observatory) ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดย FIDH และองค์การต่อต้านการทรมานโลก (OMCT) วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์การปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT เป็นสมาชิก ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกป้องกันสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปที่ดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ
ติดต่อกลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) โทรสายด่วน :
• อีเมล : alerts@observatoryfordefenders.org
• หมายเลขโทรศัพท์ FIDH : +33 (0) 1 43 55 25 18
• โทรศัพท์ OMCT : +41 (0) 22 809 49 39