ประเทศไทย : การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนาง สุชาณี คลัวเทรอ

07/01/2020
urgent
en th

THA 003 / 1219 / OBS 114
การพิพากษา / การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม
ประเทศไทย
๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหพันธ์สากลเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และองค์กรต่อต้านการทรมาณโลก (OMCT) ขอเรียกร้องการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากท่าน อันเนื่องด้วยสถานการณ์ในประเทศไทยที่จะกล่าวถัดไปนี้

ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ :

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนาง สุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าวของวอยซ์ ทีวี อันเนื่องจากการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒ เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานของ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งจัดทำฟาร์มสัตว์ปีกในประเทศไทย [1]

จากข้อมูลที่ได้รับ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๒ ศาลจังหวัดลพบุรี ได้พิพากษาจำคุก ๒ ปี นางสุชาณี ในความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา ๓๒๖ ของประมวลกฎหมายอาญา) และหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณา (มาตรา ๓๒๘)

การไต่สวนและการพิพากษาลงโทษนางสุชาณีเกิดขึ้นจากการยื่นฟ้องคดีโดยบริษัทธรรมเกษตรต่อศาลจังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๒ เกี่ยวเนื่องจากข้อความในทวิตเตอร์ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

หลังมีคำพิพากษา นางสุชาณีได้ยื่นขอประกันตัวด้วยวงเงินจำนวน ๗๕,๐๐๐ บาท (ประมาณ ๒,๒๕๐ ยูโร) ซึ่งนางสุชาณียื่นอุทธรณ์คดี

ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในระหว่างกระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ทนายของนางสุชาณีได้ยื่นคำร้องต่อศาล ภายใต้มาตรา ๑๖๒/๒ ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรียกร้องให้ยกฟ้องคดีความ โดยอ้างว่าการยื่นฟ้องคดีอาญาของบริษัท ธรรมเกษตรขาดคุณธรรม เนื่องจากเป็นการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม ศาลปฏิเสธคำร้องนี้

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) สังเกตว่า เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ สำนักงานอัยการจังหวัดลพบุรีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ต่อคดีคล้ายคลึงกันที่บริษัทธรรมเกษตรได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจในพื้นที่จังหวัดลพบุรีให้ดำเนินคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทกับนางสุชาณี

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) รำลึกว่า บริษัทธรรมเกษตรได้ฟ้องร้องคดีอาญาและคดีแพ่งต่อจำเลยมากกว่า ๒๐ รายในอดีต รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนงาน และนักข่าว โดยกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทบริษัท [2] นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ตกเป็นเป้าของบริษัทธรรมเกษตร รวมถึง นายแอนดี้ ฮอลล์ [3] นางสาวสุธารี วรรณศิริ นายนาน วิน [4] และนางอังคณา นีละไพจิตร [5]

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ยังรำลึกด้วยว่า เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๑ ในระหว่างการเยือนประเทศไทยเป็นเวลาสิบวันของคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (the United Nations Working Group on Business and Human Rights) คณะทำงานได้ออกคำแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำให้มั่นใจว่า คดีฟ้องร้องหมิ่นประมาทต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มธุรกิจเพื่อที่จะบ่อนทำลายสิทธิอันถูกต้องตามกฎหมาย และเสรีภาพของผู้ถือสิทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ องค์กรประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

กลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) ขอประนามการพิพากษาจำคุกและการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินอยู่ต่อ นางสุชาณี คลัวเทรอ ซึ่งดูเหมือนว่ามีความมุ่งหมายเพียงเพื่อลงโทษนางสุชาณีที่ได้้ใช้สิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายในการใช้เสรีภาพการแสดงออกเท่านั้น กลุ่มสังเกตการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ไทยหยุดการคุกคามต่างๆ ในทันที รวมทั้งการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนางสุชาณี คลัวเทรอ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งและคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทที่ฟ้องร้องโดยบริษัทธรรมเกษตร

โปรดดำเนินการ :

โปรดเขียนจดหมายส่งทางการไทยเรียกร้องให้ :
๑. หยุดการคุกคามทั้งมวล รวมทั้งการใช้กระบวนการยุติธรรม ต่อนางสุชาณี คลัวเทรอ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่ตกเป็นเป้าของบริษัทธรรมเกษตร
๒. รับรองว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยสามารถดำเนินกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่มีการกีดขวางหรือต้องเกรงกลัวต่อการตอบโต้
๓. รับประกันในทุกสภาพการณ์ สิทธิต่อเสรีภาพในการมีความคิดเห็นและการแสดงออก ดังที่ประกันไว้ในมาตรา ๑๙ ของ กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
๔. ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญา (มาตรา ๓๒๖ และ ๓๒๘ ของประมวลกฎหมายอาญา)
๕. ปฏิบัติตามบัญญัติทั้งมวลของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติผ่านรับรองไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ๒๕๔๑ โดยเฉพาะในมาตราที่ ๑ และ ๑๒
๖. ทำให้มั่นใจว่า สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและกลไกระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้รับการเคารพในทุกสถานการณ์
ส่งถึง :
• พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๒๘๒ ๕๑๓๑
• นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๖๔๓ ๕๓๒๐ อีเมล minister@mfa.go.th
• นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๙๕๓ ๐๕๐๓
• พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แฟกซ์ +๖๖ (๐) ๒ ๒๕๑ ๕๙๕๖ หรือ +๖๖ (๐) ๒ ๒๕๑ ๘๗๐๒
• นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อีเมล help@nhrc.or.th
• ฯพณฯ นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แฟกซ์ +๔๑ ๒๒ ๗๑๕ ๑๐ ๐๐ / ๑๐ ๐๒ อีเมล mission.thailand@ties.itu.int
• สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม แฟกซ์ +๓๒ ๒ ๖๔๘ ๓๐ ๖๖ อีเมล thaibxl@pophost.eunet.be

โปรดเขียนส่งถึงผู้แทนทางการทูตของประเทศไทยประจำประเทศของท่านด้วยเช่นกัน

***

นครปารีส-เจนีวา วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๒

กรุณาแจ้งให้ทราบ ในกรณีที่ได้นำคำร้องนี้ไปดำเนินการใดๆต่อ

กลุ่มสังเกตการณ์เพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ถูกก่อตั้งในปี ๒๕๔๐ โดย สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) โครงการมีเป้าหมายเพื่อการป้องกัน หรือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง FIDH และ OMCT เป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ

ติดต่อกลุ่มสังเกตการณ์ (The Observatory) โทรสายด่วน :
อีเมล : Appeals@fidh-omct.org
โทร หรือ แฟกซ์ สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) +๓๓ (๐) ๑ ๔๓ ๕๕ ๒๕ ๑๘ หรือ +๓๓ ๑ ๔๓ ๕๕ ๑๘ ๘๐
โทร หรือ แฟกซ์ องค์กรต่อต้านการทารุณกรรมโลก (OMCT) +๔๑ (๐) ๒๒ ๘๐๙ ๔๙ ๓๙ หรือ +๔๑ ๒๒ ๘๐๙ ๔๙ ๒๙

Lire la suite