ควบคู่ไปกับการเรียกร้องข้างต้น The Observatory ได้เปิดเผยเอกสารสรุปข้อมูล-13 หน้า ซึ่งระบุรายละเอียดเกี่ยวกับคดีแพ่งและคดีอาญา 14 กรณี ที่ธรรมเกษตรได้ดำเนินการกับบุคคลอย่างน้อย 22 ราย ซึ่งรวมทั้ง นักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนงาน และนักข่าวอีกสองราย ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทบริษัท นางสาวสุธารีและนายนานวินจะต้องปรากฏตัวต่อหน้าศาลอาญาที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่บริษัทฟ้องพวกเขา
“การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องโดยธรรมเกษตรส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารในตลาดโลก เจ้าหน้าที่ของไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับธรรมเกษตรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันว่า บริษัทจะยุติคดีทั้งปวงที่ดำเนินการกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและคนงานโดยทันที และยึดถือหน้าที่รับผิดชอบของบริษัทในการเคารพสิทธิมนุษยชน”
The Observatory ยังเรียกร้องให้ตุลาการของไทยยกฟ้องทุกคดีที่ธรรมเกษตรยื่นฟ้องต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและคนงาน เพื่อรับรองการใช้สิทธิในเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออกของพวกเขาเหล่านั้นอย่างสันติ และเพื่อรับประกันว่าจะไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายต่อพวกเขาเหล่านั้นอีกต่อไป
“สุธารี นานวิน และคนอื่น ๆ ที่ตกเป็นเป้าในการดำเนินคดีจากธรรมเกษตรไม่ควรต้องแบกรับภาระยาวนาน ค่าใช้จ่ายสูง และไม่มีเหตุผลจากกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของไทยควรต้องรับประกันให้บุคคลเหล่านั้นไม่ตกเป็นเป้าของการตอบโต้โจมตีสืบเนื่องจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเหล่านั้นอย่างชอบธรรม”
เมื่อ 4 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการมาเยือนประเทศไทยสิบวัน คณะทางานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Working Group on Business and Human Rights) ได้มีแถลงการณ์ย้ำเตือนให้รัฐบาลไทย “รับประกันว่าการฟ้องคดีหมิ่นประมาทจะไม่ถูกภาคธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนสิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรมของผู้ได้รับผลกระทบ [องค์กรภาคประชาสังคม] และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
The Observatory ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท (มาตรา 326 และ 328) ในประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders (the Observatory) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 ด้วยความร่วมมือระหว่าง FIDH กับองค์การต่อต้านการทรมานโลก (World Organization Against Torture – OMCT) โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือแทรกแซงเพื่อป้องกันหรือเยียวยาสถานการณ์สกัดกั้นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน FIDH และ OMCT เป็นสมาชิกของ ProtectDefenders.eu ซึ่งเป็นกลไกของสหภาพยุโรปสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ FIDH : Samuel Hanryon (French, English) : + 33 6 72 28 42 94 OMCT : Miguel Martín Zumalacárregui / Delphine Reculeau : (+41) 22 809 49 39 |