ประเทศไทย : สหประชาชาติประณามการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยมิชอบ

18/08/2015
Communiqué
en th

ปารีส, ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ : คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (CESCR) กล่าววานนี้ในข้อสังเกตเชิงสรุป (Concluding Observations) หลังการทบทวนรายงานของประเทศไทย ณ กรุงเจนีวา ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse-majesté)

คณะกรรมการฯ ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “ผลร้ายของการตีความเกินขอบเขต” ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประเด็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของทุกคน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะว่าควรมีการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เพื่อให้เกิด “ความชัดเจนและไม่กำกวมเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย และความพอเหมาะของบทลงโทษต่อความเสียหายอันกันเกิดจากการละเมิดกฎหมายนั้น”

คณะกรรมการฯ ได้ประกาศข้อเสนอแนะดังกล่าวในช่วงที่มีการจำกัดการโต้เถียงอภิปรายอย่างเปิดเผยในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งให้ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (FCCT) ยกเลิกเวทีอภิปรายเรื่องมาตรา ๑๑๒ ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ณ กรุงเทพมหานคร โดยรัฐบาลได้ออกคำสั่งดังกล่าวหลังสมาคมฯ ปฏิเสธการขอความร่วมมือจากตำรวจที่จะให้ยกเลิกการจัดงาน ซึ่งทางตำรวจอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวจะ “สร้างความแตกแยกในสังคม กระตุ้นให้ผู้คนละเมิดกฎหมายและก่อความไม่สงบ”

นาย Karim Lahidji ประธาน FIDH กล่าวว่า “การบังคับใช้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ โดยมิชอบนั้น นับเป็นความอับอายในระดับนานาชาติของประเทศไทย อีกทั้งยังทำให้ภาพพจน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเสื่อมเสีย” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะยอมรับต่อข้อเสนอแนะจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”

นอกจากนี้ ในโอกาสที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (CESCR) ทบทวนรายงานตามวาระ (Periodic Report) ของประเทศไทย FIDH ได้เปิดตัวรายงาน “ยุคมืด : การละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย” (Dark Ages – Violations of cultural rights under Thailand’s lèse-majesté law) โดยที่รายงานฉบับนี้เสนอว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ อย่างเข้มข้นนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สมารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะเคารพและปกป้องสิทธิของทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิทธิที่รับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อที่ ๑๕

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของประเทศไทยกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่บุคคลที่มีความผิดตามข้อหานี้อาจถูกจำคุกสามถึงสิบห้าปีสำหรับความผิดแต่ละกระทง อย่างไรก็ดี ใน ๑๓ จาก ๑๖ คดี ที่ผู้ต้องหาถูกตัดสินจำคุกนั้น ล้วนมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและสิทธิที่จะได้เข้าร่วมในการแสดงออกทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังได้มีการสั่งห้ามขายหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นที่นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งบรรยากาศของความกลัวอันเกิดจากมาตรการเหล่านี้ได้นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) อย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ทางการไทยก็มิได้ลดละในการกวาดล้างสื่อออนไลน์อันมีเนื้อหาที่อาจหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน

Press Contact :
FIDH : Arthur Manet (สำหรับภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน) – โทร : +๓๓๖๗๒๒๘๔๔๒๙๔ (ปารีส)

Lire la suite