ประเทศไทย : การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยมิชอบขัดขวางการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

18/08/2015
Communiqué
en es fr th

ปารีส, เจนีวา, ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ : FIDH กล่าวในรายงานฉบับใหม่ที่เปิดตัวในวันนี้ว่า การที่ประเทศไทยบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) ได้ส่งผลให้การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยถูกจำกัดลงเป็นอันมาก อีกทั้งยังทำให้ศิลปินและนักเขียนอีกหลายท่านต้องโทษจำคุก

FIDH เปิดตัวรายงาน “ยุคมืด : การละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย” (Dark Ages – Violations of cultural rights under Thailand’s lèse-majesté law) ในโอกาสที่คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (CESCR) ทบทวนรายงานตามวาระ (Periodic Report) ของประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ มิถุนายน ณ กรุง เจนีวา โดยที่รายงานฉบับนี้อธิบายว่าการจำกัดสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ นั้นได้ละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) อย่างไร ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว

ในประเด็นนี้ นาย Karim Lahidji ประธาน FIDH กล่าวว่า “ทางการได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์อย่างเป็นระบบ สั่งห้ามจำหน่ายหนังสือ ปราบปรามการกระทำ ตลอดจนการสร้างและเผยแพร่สื่ออื่นใด ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือการพูดที่มีเนื้อหาอันนับได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์ไทย โดยที่มาตรการเหล่านี้เมื่อรวมกับการบังคับใช้โทษจำคุกในอัตราสูงสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว ที่สุดก็ทำให้ให้ไม่มีการโต้เถียงอภิปรายอย่างเปิดเผยโดยสิ้นเชิง ในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์”

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของประเทศไทยกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่บุคคลที่มีความผิดตามข้อหานี้อาจถูกจำคุกสามถึงสิบห้าปีสำหรับความผิดแต่ละกระทง

รายงานฉบับนี้ยังได้เสนอว่าการที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายมาตรา ๑๑๒ อย่างเข้มข้นนั้น ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิสิทธิที่จะได้เข้าร่วมในการแสดงออกทางวัฒนธรรม (Right to Participate in Cultural Life) อันเป็นสิทธิที่กติกา ICESCR ข้อที่ ๑๕ ได้รับรองไว้

นอกจากนี้ การจำคุกนักแสดงละครเวที ภรณ์ทิพย์ มั่นคง (กอล์ฟ) และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (แบงค์) ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายหลังที่ทั้งคู่การแสดงละครการเมือง ก็นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการบังคับใช้มาตรา ๑๑๒ และการที่ประเทศไทยไม่สามารถในการปกป้องสิทธิที่ที่จะมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมได้ อีกทั้งบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับละครเรื่องนี้ก็ต่างหลบหนีออกนอกประเทศ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกจับกุมด้วยข้อหามาตรา ๑๑๒

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นหลายคดีและมีการลงโทษจำคุกผู้ที่เผยแพร่สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ทั้งนี้ ภายหลังการรัฐประหารในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ รัฐบาลทหารของประเทศไทย ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปรากฏว่ามีจำนวนผู้ถูกคุมขังและการฟ้องร้องข้อหามาตรา ๑๑๒ เพิ่มขึ้นอย่างมาก และใน ๑๓ จาก ๑๖ คดี ที่ผู้ต้องหาถูกตัดสินจำคุกนั้น ล้วนมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและสิทธิที่จะได้เข้าร่วมในการแสดงออกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น และอีกหลายคดีก็ปรากฏว่ามีผู้ที่แสดงความเห็นและแบ่งปันเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านเว็บไซต์ Facebook ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่นกัน นอกจากนี้ นายสิรภพ กรณ์อรุษ ผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง ก็ถูกคุมขังไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ เพื่อรอการไต่สวน โดยที่ข้อหาของเขามาจากการประพันธ์บทกวีที่มีข้อความเป็นนัยยะสื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช

ทางการไทยยังได้สั่งห้ามขายหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นที่นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งบรรยากาศของความกลัวอันเกิดจากมาตรการเหล่านี้ได้นำไปสู่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censorship) อย่างแพร่หลาย

ยิ่งไปกว่านั้น ทางการไทยก็มิได้ลดละในการกวาดล้างสื่อออนไลน์อันมีเนื้อหาที่อาจหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน ซึ่งแนวปฏิบัตินี้ได้ดำเนินต่อมาภายใต้การบริหารของ คสช. โดยตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ทางการได้ปิดกั้นเว็บไซต์หลายพันแห่งที่อาจมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชา นุภาพ และในช่วงต้นเดือนมกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา คสช. ยังได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การควบคุมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยแทรกแซงความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้นชอบด้วยกฎหมาย ในการนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวคือการปราบปรามเนื้อหาออนไลน์ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้ได้อย่างเด็ดขาด อีกทั้ง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็ยังมีเป้าประสงค์ที่จะจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาลเช่นกัน

นาย Lahidji กล่าวเพิ่มเติมว่า “การเซ็นเซอร์, โทษจำคุก, หรือการเนรเทศ ล้วนเป็นสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุดสำหรับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย” และยังได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยว่า “อย่างน้อยที่สุดประเทศไทยควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพื่อยกเลิกโทษจำคุกสำหรับข้อกล่าวหาที่มีต่อผู้ที่ปฏิบัติตามสิทธิในการมีเสรีภาพทางการแสดงความเห็นและการแสดงออก อีกทั้งทางการต้องหยุดการเซ็นเซอร์สื่อออนไลน์และสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของความคิดและข้อมูลต่างๆ”

รายงานของ FIDH ฉนับนี้ยังได้ประกาศข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยหลายประการ ซึ่งล้วนมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการจำกัดสิทธิที่จะได้เข้าร่วมในการแสดงออกทางวัฒนธรรมผ่านมาตรา ๑๑๒ นั้นจะไม่ขัดต่อพันธกรณีของไทยภายใต้กติกา ICESCR

รายงานนี้เป็นฉบับปรับปรุงของรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) ของ FIDH ที่เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Committee on Economic, Social and Cultural Rights - CESCR) สมัยประชุมที่ ๕๕ ณ กรุงเจนีวา วันที่ ๔-๕ มิถุนายน ๒๕๕๘

Press Contact :
FIDH : Arthur Manet (สำหรับภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และสเปน) – โทร : +๓๓๖๗๒๒๘๔๔๒๙๔

Lire la suite